วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ฟ้าไม่ได้ลิขิต


คงได้แต่เดาช่วงเวลาน่ะครับว่าภาพถ่ายนี้เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.2510 ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี(ซึ่งปัจจุบันแยกออกมาเป็นจังหวัดสระแก้ว) เป็นภาพถ่ายของคุณแม่เยื้อ เพชรรัตน์ กับนางอุษา เพชรรัตน์(ชักนำ) นางจงรัก เพชรรัตน์(อินทศรี) และนายภักดี เพชรรัตน์ ถ่ายในห้องนอนของคุณพ่อกับคุณแม่ ผู้ที่ถ่ายภาพก็คือตัวคุณพ่อคงเดช เพชรรัตน์เองแหละครับ พอดีไปขุดคุ้ยเอกสารเก่าๆ ก็พบกับภาพนี้วางปะปนอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ภาพถ่ายนี้ทำให้ย้อนระลึกถึงช่วงเวลาที่เป็นอยู่ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

อำเภอตาพระยา ในช่วงเวลาที่ครอบครัวของผมย้ายไปอยู่นั้น (พ.ศ.2509 - 2513) เป็นพื้นที่สีแดงตามแนวคิดของรัฐบาลสมัยนั้น (ซึ่งคงต้องยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบานด้วยความเต็มใจว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ) คำว่า ผกค.มีปะปนอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ใครไม่ยอมสบตากับเจ้าหน้าที่ทางการก็มักจะถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์น่าสงสัย อาจจะถูกลากตัวไปสอบสวนง่ายๆ แต่ถ้าใครบังอาจสบตากับเจ้าหน้าที่อย่างไม่หวั่นเกรงก็อาจจะถูกเพ่งเล็งในข้อหาเดียวกันได้เหมือนกัน เป็นที่ทราบกันดีสำหรับคนในยุคนั้นว่าบ้านเมืองของเราอยู่ในสภาพของความหวาดระแวงเช่นไร โดยเฉพาะในกรณีที่การติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน "ไม่มี" แต่มีในลักษณะที่เรียกกันว่า "การโฆษณาชวนเชื่อ" เสียมากกว่า ผ่านทางกระบวนการ "หนังขายยา" ที่มีการฉายภาพยนตร์ข่าวการทำงานของรัฐบาล บางทีก็เป็นการ์ตูนเรื่องรามเกียรติ์ แต่บทภาพยนตร์ดัดแปลงเป็นแนวต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งเรื่อง มีการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ก่อนจะฉายหนังเรื่องสลับกับการขายยา ใครจะไปรู้ว่ามันจะมีอิทธิพลต่อความคิดของชาวบ้านได้แค่ไหน แต่สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวผมมองเห็นถึงภาพลบมากกว่า เพราะรัฐบาลทหารนั่งวางแผนจุดเทียนวาดภาพระบายสีความฝันอันบรรเจิดอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ประชาชนชาวบ้านได้พบกับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ประสบกับการข่มเหงรังแกจากข้าราชการ หน่วยงานของรัฐจริงๆ ถูกข่มขู่คุกคามจากคนของรัฐจริงๆ และหลายคนก็ติดคุก บาดเจ็บล้มตายไปด้วยสาเหตุต่างๆ ที่ไม่เคยมีการสอบสวนเกิดขึ้นมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว

นั่นคือสภาพของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น (เอ ช่วงเวลานี้ก็ดูเหมือนจะยังมีอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ แต่มันไม่ค่อยเอิกเกริกเหมือนเมื่อก่อน) สื่อสารมวลชนในยุคนั้นตาบอด เป็นใบ้ หูหนวก กันถ้วนหน้า และยาวนานมาจนถึงยุคปัจจุบันที่นักธุรกิจการเมืองเข้าครอบงำสื่อมวลชนไว้อย่างเบ็ดเสร็จโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เจ้าของสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ ตลอดจนสื่อโฆษณาทุกแขนงต่างถูกครอบครองไว้โดยนายทุน นักธุรกิจการเมือง เพื่ออาศัยเป็นกระบอกเสียงในการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คน การกลบเกลื่อนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยกระจายข่าวสารที่ถูกบิดเบือนออกไปสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องผ่านทางสื่อต่างๆ หรือแอบแฝงไว้ในโฆษณา ละครทีวี รายการเกมโชว์ รายการสนทนาต่างๆ

มาาว่าถึงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวผมในช่วงเวลานั้นบ้าง แม้จะเป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อยเงินเดือนไม่กี่ร้อยบาทแต่ครอบครัวผมก็มีกันถึง 7 ชีวิต ชีวิตประจำวันของแม่ก็คือการดูแลเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 5 คน ซึ่งคุณพ่อก็จะออกไปทำงานตอนเช้าพร้อมกับลูกอีก 4 คนก็จะต้องไปโรงเรียนในวันธรรมดาเหลือคนเล็กที่กำลังซนเพียงคนเดียวอยู่ช่วยเหลือวุ่นวายกับคุณแม่ที่จะต้องทำความสะอาดเล้าหมูที่มีแม่หมูอยู่ 2 ตัว บางโอกาสก็จะมีลูกอ่อนๆ อีกนับสิบตัว ต้องต้มข้าวคลุกรำแล้วก็หั่นซอยผักบุ้ง ผักตบชวา ปนลงไป แล้วก็ถึงคิวของ เป็ดไก่ ที่มีมากมายจนนับไม่ถ้วนรอบบริเวณบ้าน ส่วนเล้าไก่ เล้าหมู ก็เป็นฝีมือของคุณพ่อกับคุณลูกๆ ที่ช่วยกันสร้างบวกกับความช่วยเหลือของเพื่อนบ้านนิดหน่อย จากนั้นคุณแม่ก็จะต้องไปไกลจากหลังบ้านนิดหน่อยเพื่อดูแลพรวนดินแปลงพืชผักสวนครัวครบถ้วนรวมไปถึงแปลงถั่วฝักยาว ค้างบวบ แปลงฟักทอง แถมด้วยแปลงมันเทศ มันสำปะหลัง อ้อย จิปาถะ เท่าที่จะหาเมล็ดพันธุ์มาปลูกได้

ไม่ไกลจากบ้านมากนักจะเป็นทุ่งนาที่ลุ่ม ซึ่งเมื่อฝนตกใหม่ๆ น้ำก็จะท่วมเกือบถึงคอเด็กๆ ห่างออกไปก็มีสระน้ำขนาดใหญ่แต่ก็แห้งขอดทุกปีแต่ยังพออาศัยสายบัวมากินได้เป็นฤดูกาล ผมเองชอบผักบุ้งที่เรียกกันว่า "ชะลูดน้ำ" เพราะเวลาน้ำหลากมาผักบุ้งจะทยานตัวโตเพื่อให้พ้นน้ำโดยโผล่ให้เห็นเพียงยอดเล็กๆ เท่านั้น แต่เวลาเด็ดผมมักจะมุดลงไปเด็ดถึงโคนต้นเพื่อให้ได้ผลเต็มที่ เนื่องจากมันจะมีแต่ลำต้นกรอบๆ ที่ทอดยาวกว่าช่วงแขนเท่านั้นไม่มีใบปะปนมาแม้แต่น้อย ภารกิจประจำวันของคุณแม่นั้นมีมากมายจนแทบมองไม่เห็นเวลาพักผ่อน แต่พวกลูกๆ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระกันออกไปบ้างตามสมควร เช่น การหุงข้าวซึ่งเป็นการหุงข้าวด้วยหม้อแบบเช็ดน้ำ(นี่แหละที่รอคอย "น้ำข้าว" ยอดอาหารอุดมโปรตีนของเด็กรุ่นผม มีทั้งใส่เกลือนิดหน่อย หรือแบบใส่น้ำตาลนิดหน่อย) อันนี้เป็นภารกิจของพี่ชายคนโต ส่วนผมรับภาระหน้าที่ในการล้างถ้วยจาน น้องสาวอีกสองคนรับผิดชอบในการทำความสะอาดบ้านกวาดถูทุกๆ ห้อง และงานเหล่านี้รวมไปถึงการช่วยเหลือคุณแม่ในการเลี้ยงดูสัตว์ที่มีอยู่ และการดูแลแปลงผักอีกด้วย

บางช่วงเวลาคุณแม่จะหอบคันเบ็ดไม้ไผ่ที่คุณพ่อเหลาขึ้นมาสองสามคันขึ้นบ่าพร้อมข้องใส่ปลาเดินลัดเลาะไปตามลำห้วยท้ายหมู่บ้าน หายไปซักสี่ห้าชั่วโมงก็หอบปลากลับมามากมาย ผมเองเคยตามไปกับคุณแม่ เชื่อมั้ยล่ะ ว่าพอวางเบ็ดลงหันไปเกี่ยวเหยื่ออีกคัน คันที่หย่อนลงไปนั้นโดนปลาฮุบเหยื่อซะแล้ว พอหันไปปลดปลาตัวนั้นออก คันที่เพิ่งวางลงก็ติดอีกแล้ว เบ็ดทั้งสามคันไม่ได้มีโอกาสวางนิ่งเฉยได้เลยและปลาที่ติดก็มีทั้งปลาหมอ ปลาเนื้ออ่อนขนาดเท่าฝ่ามือ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากลด ตัวเกือบเท่าแขน และเมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันคุณแม่จะตำน้ำพริกห่อใบตองมากับข้าวสวย ส่วนพวกผักก็เด็ดเอาตามขอบห้วยนั่นเองซึ่งมีอยู่มากมายและคุณแม่ก็เลือกได้เป็นอย่างดีว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้

ก็แปลกนะที่บ้านเราไม่ค่อยชอบกินหมู หรือเป็ดไก่ที่เลี้ยงเอาไว้ในบ้านเท่าไรนัก นอกจากจะจำเป็นจริงๆ ก็จะไปซื้อเอาจากตลาด อาหารที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเมนูปกติส่วนมากจะเป็นอาหารพื้นบ้าน ของโปรดของคุณพ่อจะเป็นพวกเขียดหรืออึ่งอ่างตากแห้งย่าง จะเอามาต้มโคล้งร้อนๆ แซบอย่าบอกใคร ส่วนพวกอาหารป่านั้นมีมากมายทุกชนิด เนื้อช้าง เสือ วัวกระทิง กวาง กระจง เม่น ตะกวด งูเหลือม น้ำผึ้งหลวง มีชาวบ้านเดินเอามาขายถึงบ้านทุกวันไม่เคยขาด ส่วนผมกับพี่ชายถนัดนี่จะออกไปกับเพื่อนๆ ในป่าหาขุดแย้ ขุดบึ้ง ไล่ยิงกระปอมบนต้นไม้มาเผาไฟกินหรือสับทำลาบกินกันมากกว่า

ชีวิตบ้านป่า การกินของป่านั้นเป็นเรื่องปกติสามัญ และมีแต่คนป่าเท่านั้นที่จะเรียนรู้ว่าอะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน นิสัยนั้นบางอย่างติดตัวมาถึงทุกวันนี้ ผมกินของทุกอย่างที่คนอื่นกินได้ทั้งหมด และสามารถกินของบางอย่างที่คนอื่นไม่กิน โดยเฉพาะเรื่องรสชาติของอาหาร ผมไม่เคยใส่ใจแม้แต่น้อย คนบางคนอาจจะนิยมชมชอบรสชาติของอาหารร้านนั้นร้านนี้ นั่นเป็นอุปาทานของแต่ละคนเสียมากกว่า

กินง่าย ... ตายยาก 
นี่แหละคติชีวิตของผม

ไม่มีความคิดเห็น: