วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัดพระยายัง

เคยพูดคุยกับพี่ชายคนเดียวที่มีอยู่หลายครั้งหลายหนว่าทำอย่างไรจึงจะรู้เรื่องราวส่วนตัวของพ่อให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้สามารถสืบสาวไปถึงต้นตอของบรรพบุรุษที่เป็นจุดกำเนิดของต้นตระกูลอย่างแท้จริง และพี่ชายก็รับรู้มาแต่เพียงว่า พ่อเคยบอกว่าปู่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในกรุงเทพมหานคร บริเวณที่เรียกว่า "ซอยวัดพระยายัง"

นั่นคือเหตุผลที่ต้องตะลุยหาข้อมูลเกี่ยวกับซอยนี้ เพื่อมองหาความสัมพันธ์หรือจุดเชื่อมระหว่างเหตุการณ์กับความเป็นไปในช่วงเวลาต่างๆ

ก็ควรจะเริ่มที่วัดพระยายังเป็นลำดับแรก


          
วัดพระยายัง (ในปัจจุบัน) ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ถนนพระราม ๖ แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๘๙ ตารางวา

 ผู้สร้างวัดพระยายัง คือ พระยามหานิเวศนานุรักษ์ (ยัง รักตะประจิตต์) ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพได้ยกทัพไปตีหัวเมืองเขมรมีชัยชนะ ได้กวาดต้อนครัวเขมรมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ บ้านครัว

มูลเหตุที่สร้างวัดพระยายังนั้น เนื่องมาจากที่ดินริมคลองแสนแสบฝั่งเหนือเมื่อได้จัดตั้งบ้านเรือนให้ครัวเขมรอยู่เรียบร้อยแล้ว ด้านตะวันตกของบ้านครัวเขมรยังมีที่ดินเหลืออยู่ถึงคลองส้มป่อยฝั่งตะวันออกพอที่จะสร้างวัดได้ อีกประการหนึ่ง เนื่องจากพระยามหานิเวศนานุรักษ์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ยึดมั่นเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีศรัทธาแรงกล้าที่จะสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา อีกประการหนึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแม่ทัพผู้มีชัยชนะกลับมา นิยมสร้างวัดเป็นอนุสรณ์

นอกจากนี้บันทึกบางแหล่งยังกล่าวถึงแขกจามในไทยว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนของตัวเอง(เวียดนามในปัจจุบัน) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในปริมณฑลของนครธม  เมื่อครั้งจ้าสามพระยาเข้าโจมตีเขมรจึงถูกกวาดต้อนมาอยู่อยุธยาด้วย  และภายหลังสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ชุมชนชาวจามนี้ก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งในการสู้รบกับการรุกรานของพม่าด้วย หลังเสียกรุง ชาวจามที่เหลือรอดได้เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้าตาก และได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านครัวในยุคนี้เอง  ต่อมาในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี มีการรุกรานเขมรและกวาดต้อนเขมรและแขกจามมาเพิ่มเติมที่บ้านครัวอีก

มาถึงตอนนี้ก็พอจะมองเห็นแล้วว่าในยุคสมัยก่อนนี้ สงครามระหว่าง ไทย พม่า เขมร ญวน มลายู ฯลฯ ส่งผลให้มีการอพยพไปมาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากประเทศที่ชนะสงครามก็จะพากันกวาดต้อนผู้คนต่างชาติที่แพ้สงครามนำมาเป็นเชลยหรือแรงงานให้กับตน ทั้งในส่วนรวมของประเทศและเพื่อใช้งานส่วนตัว (อันนี้ก็เหมือนกับผู้คนในยุคปัจจุบันนั่นแหละ)

ดังนั้น ในซอยวัดพระยายังจึงอุดมไปด้วยผู้คนมากหน้า มากเผ่าพันธุ์เป็นพิเศษแห่งหนึ่ง ที่มีการเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยามาจนถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในจำนวนผู้คนมากมายเหล่านี้คือ บรรพบุรุษซึ่งเป็นต้นตระกูล "เพชรรัตน์" ของเรา

ก็เห็นควรจะต้องหันเหความสนใจไปที่บ้านครัวกันเสียแล้วว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นตระกูลชองเราอย่างไร ? และสามารถยืนยันแนวความคิดเรื่องที่มาของชาติกำเนิดของเราได้หรือไม่ ? คงจะต้องยกเอาไปคราวหน้าในบทความใหม่เลยน่าจะเหมาะสมกว่า


ไม่มีความคิดเห็น: