วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทางเดินของพ่อ

ก่อนจะเดินทางย้อนกลับไปค้นหาคำตอบในเรื่องที่ไม่เคยรู้ (แล้วก็ไม่อยากจะรู้สักเท่าไหร่ เพราะมันไม่มีผลกระทบต่อหนทางในการเลี้ยงชีพของเราได้เลย) ก็จะต้องมาทบทวนยืนยันในความเป็นหลักฐานที่มีอยู่ให้ชัดเจนลงไปเป็นระยะๆ ซึ่งช้อเท็จจริงเหล่านี้มีหลักฐานชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร (แม้ว่าบางชิ้นจะสาบสูญไปแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นผ่านมาเต็มสองตา)

คุณพ่อผม ชื่อ สิงหเรศ เพ็ชร์รัตน์ เกิดเมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2470 ที่ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา เป็นบุตรชายคนโตของ คุณปู่ชื่อ นายเอื้อม เพ็ชร์รัตน์ และคุณย่าชื่อ นางระเบียบ เพ็ชร์รัตน์  และทราบแต่เพียงว่าคุณปู่มีอาชีพรับราชการ
คุณพ่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายจาก โรงเรียนประจำจังหวัดพระตะบอง ประมาณปี พ.ศ.2490 (ที่ต้องใช้คำว่าประมาณ ก็เพราะใบสุทธิหายไปเสียแล้ว แต่เคยอ่านมาด้วยตาตนเอง ว่าใบสุทธิของโรงเรียนประจำจังหวัดพระตะบองฉบับนั้นเป็นภาษาไทยทั้งสิ้น และผู้ลงนามก็เป็นข้าราชการชั้นสูงสองท่านของไทย ดังนั้นจึงเชื่อว่าใบสุทธิฉบับนั้นน่าจะเป็น ใบรับรองคุณวุฒิที่ประเทศไทยออกให้ในภายหลัง) และรู้สึกว่าจะเรียนช่วงเวลาใกล้เคียงกับ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เสียด้วย ใครอยากรู้คงจะต้องไปค้นประวัติคุณจิตร ภูมิศักดิ์ดูเอาล่ะครับ


เพราะคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยต้องทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อแลก มณฑลบูรพา ซึ่งประกอบด้วยเมืองพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณกับเมืองด่านซ้าย เมืองตราด รวมทั่งหมูเกาะ ต่างๆ ในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ นั่นจึงทำให้กัมพูชาหลุดพ้นไปจากการปกครองของประเทศสยามโดยถาวร หลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามมาตั้งแต่สมัยโบราณนานนม จนมาสิ้นสุดในช่วงกลางของกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง ผ่านการรบราฆ่าฟันแก่งแย่งดินแดนกวาดต้อนผู้คนอพยพโยกย้ายไปมาเหมือนฝูงสัตว์ จนแยกไม่ออกว่าใครเชื้อชาติอะไรกันแน่ เนื่องจากพ่อเป็นลูกครึ่ง ไทยกับเขมร แม่เป็นลูกครึ่งญวนกับแขกมลายู ส่วนตัวเองก็มีเมียเป็นลูกครึ่งลาวกับพม่า ทำนองนี้แหละ

และก็ไม่ได้จบสิ้นอยู่แต่เพียงเท่านั้น ปี พ.ศ. 2484 เมืองพระตะบอง และ เสียมราฐ ได้กลับมาเป็นของไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากกรณีพิพาทอินโดจีน โดยมีญี่ปุ่นเป็นหัวเรือใหญ่ในการไกล่เกลี่ยให้(ซึ่งแน่ล่ะ ว่าจุดมุ่งหมายก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ) ได้มีพิธีรับมอบดินแดนที่จังหวัดพระตะบอง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 มีการสวนสนาม โดยมีแม่ทัพบูรพาเป็นประธาน มีผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 3 นาย และผู้แทนฝ่ายทหาร 3 นาย ไปรับมอบดินแดนที่พระตะบอง นำโดยนายควง อภัยวงค์ ซึ่งได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตรีสังกัดเหล่าทหารสื่อสาร เป็นผู้เชิญธงไตรรงค์ชักขึ้นเหนือจังหวัดพระตะบอง แล้วรายงานทางวิทยุสื่อสาร มายังนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยตรง

เหตุผลที่นายควง ได้รับมอบหมายก็เนื่องมาจากเป็นบุตรของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั่นเอง เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายและเป็นสมุห เทศา ภิบาล สำเร็จราชการมณฑลบูรพา อันมีพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ

แต่ในพ.ศ. 2490 ประเทศไทย ก็ต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้ฝรั่งเศสไปปกครองกัมพูชาอีกครั้ง เมื่อฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะสงคราม และไทยเป็นผู้แพ้สงครามร่วมกับมหามิตรคือญี่ปุ่น ไชโย ?

ในปี พ.ศ.2490 นี่เองที่เชื่อว่าคุณพ่อสิงหเรศ ตัดสินใจออกจากบ้านที่จังหวัดพระตะบองเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางชายแดนอรัญประเทศ เพื่อศึกษาต่อพร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน (ซึ่งบางคนในปัจจุบันก็มีตำแหน่งและฐานะที่มั่นคง) โดยเพื่อนบางท่านก็ทำการอุปสมบทพร้อมกันด้วยที่วัดพระยาทำ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ประมาณช่วงปี พ.ศ.2495 ถึง พ.ศ.2497 โดยอุปสมบทเพียงพรรษาเดียวเท่านั้น


(วัดพระยาทำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2375 ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของ "แควหนุมาน" เลขที่ 6 หมู่.3 ต.กบินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ทิศเหนือจรดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ทิศใต้และทิศตะวันตกจรดที่ดินของตระกูล "พินิจชอบ"ทิศตะวันออกจรดแควหนุมาน และมีบ้านเรือนประชาชนตั้งเรียงรายบนฝั่งตรงข้ามกับหน้าวัด ยาวประมาณ 400 เมตร เรียกว่า "ตลาดใหญ่" หรือตลาดเก่า

สมัยพระยาบดินทร์เดชานุชิต (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพไปรบเขมรและได้นิมนต์ท่านอาจารย์คุ้มมาด้วย เพราะท่านเชี่ยวชาญในทางแพทยศาสตร์ เมื่อพระภิกษุมาด้วยเช่นนั้น จึงได้สร้างวัดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ จึงขนานนามว่า "วัดกระโดน" เพราะว่ามีต้นกระโดนใหญ่ขึ้นอยู่ต้นหนึ่งด้วย ต่อมาได้ยกอุโบสถขึ้น พร้อมทั้งได้พระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2469 และได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า "วัดพระทำ" จนถึงปัจจุบัน)

ในปี พ.ศ.2497  มีหลักฐานว่าท่านรับราชการเป็นเสมียนอยู่ที่แผนกศึกษาธิการอำเภอกบินทร์บุรี แต่ไม่ทราบว่าท่านเข้ารับราชการมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากหลักฐานที่มีอยู่ปรากฎว่าท่านมีใบรับรองคุณวุฒิ ป.ป. , ป.ม., พ.ม. และ ค.บ. ซึ่งคาดว่าท่านคงไปศึกษาเพิ่มเติมหลังจากเข้ารับราชการแล้ว เนื่องจากในยุคสมัยนั้น คุณวุฒิ ม.ปลาย ก็น่าจะเพียงพอในการสมัครเข้าเป็นเสมียนอำเภอแล้ว

จากหลักฐานเป็นบันทึกด้วยลายมือของน้องสาวคุณพ่อเองคนหนึ่งเขียนไว้หลังรูปถ่ายที่ส่งมาให้คุณพ่อในภายหลัง  ระบุไว้ว่าทางครอบครัวเคยเดินทางมาเพื่อพบคุณพ่อที่ ป่าใผ่ ต.คลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี เมื่อ ปี พ.ศ.2494 โดยมีคุณย่าระเบียบ และน้องๆ ของท่านเดินทางมาหลายคน แต่ก็ไม่ได้พบกับคุณพ่อตามที่ตั้งใจไว้




เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า ข้าราชการในพระตะบองส่วนมากจะเป็นคนไทยเชื้อสายเขมร หรือคนไทยที่มีต้นตระกูลอยู่ในเขมรมาตั้งแต่ชั้นบรรพบุรุษ จึงมีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทยเป็นอย่างดี ครั้นมาถึงยุคที่ถูกฝรั่งเศสปกครองตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 เป็นต้นมาก็ทำให้บรรดาข้าราชการเหล่านี้ รวมไปถึงบุตรหลานจำเป็นต้องมีความรู้ในภาษาฝรั่งเศสควบคู่ไปด้วย เมื่อจบการศึกษาชั้นสูงสุดภายในประเทศแล้ว จึงนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

มาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงคำบอกเล่าของคุณพ่อว่าทุกคนในครอบครัว พูด อ่าน/เขียน ภาษาไทย , ภาษาเขมร และภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี และมีน้องชายของท่านคนหนึ่งเดินทางไปเรียนแพทย์ที่ฝรั่งเศส (ข้อมูลเรื่องวันเดือนปีไม่สามารถยืนยันได้)  เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า คุณปู่คงมีอาชีพรับราชการและอาจจะมีตำแหน่งสูงพอสมควร จึงสามารถส่งให้ลูกๆ ทุกคนร่ำเรียนได้ในระดับสูงที่สุดในยุคสมัยนั้น

อันที่จริงว่าจะพูดถึงบ้านครัวนะ แต่่ขอติดเอาไว้ก่อนก็ได้เพราะเท่าที่ค้นหาข้อมูลดู รู้สึกว่ายังมีข้อขัดแย้งหลายเรื่อง คงต้องใช้เวลากลั่นกรองสักระยะหนึ่ง ประกอบกับช่วงชีวิตของคุณพ่อสิงหเรศจะต้องมาดำเนินต่อในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเดินตามเส้นทางมาทีละก้าวแล้วครับ

และเนื่องจากบทความนี้เขียนขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงการเพิ่มเนื้อหาบางตอนลงไปเพื่อความสมบูรณ์ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับมาล่าสุด

ไม่มีความคิดเห็น: