วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บนถนนของวันนี้


ภาพข้างบนถ่ายไว้เมื่อปีพุทธศักราช 2507 ที่ห้องเช่าระหว่างซอย 3 กับซอย 5 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ขาดคุณพ่อเพียงคนเดียว และก็ถือได้ว่าเป็นสายเลือดเพชรรัตน์สายนี้เพียง 5 คนเท่านั้นที่จะต้องแพร่กระจายขยายเส้นทางสายนี้อออกไป

ดังที่เคยกล่าวถึง การมีบุตรชายตามธรรมเนียมไทยถือว่าจะต้องเป็นผู้สืบทอดนามสกุลต่อๆ กันไป ส่วนบุตรที่เป็นผู้หญิงก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของสามี บุตรที่เกิดมาก็จะต้องใช้นามสกุลของสามี และสืบทอดนามสกุลของสามีต่อไป การคงอยู่ของนามสกุลเดิมก็จะหมดสิ้นไปเหลือแต่เพียงในความทรงจำของลูกหลานเท่านั้นที่จดจำไว้ว่า แม่ ยาย  ย่า หรือ ทวด ของตนเคยใช้นามสกุล เพชรรัตน์

แต่ในยุคปัจจุบัน แม้แต่ผู้หญิงก็สามารถดำรงรักษานามสกุลเดิมของตนไว้ได้เช่นเดียวกับฝ่ายชาย แม้ว่าจะแต่งงานแล้ว จึงสามารถรักษาความเป็นคนในตระกูลไว้ได้ตลอดชั่วอายุขัย ซึ่งจะทำให้ลูกหลานได้จดจำไว้แน่นสนิทไม่ลืมเลือน 

แต่ในกรณีที่หย่าขาดจากสามีและได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรชายหญิง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเดิมของลูกมาใช้นามสกุลเดิมของตน ทำให้เห็นชัดได้ถึงความเข้มข้นของสายเลือดที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้คลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์เดิมของบรรพบุรุษ 

ดังเช่นในอดีตที่มีผู้คนมากมายเปลี่ยนนามสกุลมาใช้ เพชรรัตน์ โดยง่ายดาย เพียงให้เจ้าของนามสกุลเซ็นต์รับรองเพียงคนเดียวก็อนุมัติให้เปลี่ยนได้แล้ว หรือแม้แต่เหล่าศิลปินที่อยากจะใช้นามสกุลอะไร ก็สามารถกำหนดขึ้นมาใช้เองโดยพลการโดยไม่คิดถึงผู้ที่มีสิทธิในนามสกุลนั้นอย่างแท้จริง

นามสกุล จึงเป็นเพียงสิ่งสมมุติ เหมือนกับความเป็นคนไทยที่แท้ ที่ไม่สามารถจะหาได้อย่างแน่นอน เพราะบรรพบุรุษของเรามีความสัมพันธ์กันอย่างสนิทแนบแน่นกับชนชาติอื่นอีกมากมายมาแต่โบราณกาล นามสกุลจะโดดเด่นอย่างมีศักดิ์ศรีก็ต่อเมื่อผู้ใช้สร้างแต่ความดีงาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางครั้งผู้ใช้นามสกุลนี้ก็สร้างความเสื่อมเสียให้กับวงศ์ตระกูลด้วยการกระทำความผิดอาญา และก็ชวนให้เจ็บแค้นในใจเมื่อคนๆ นั้นยอมรับว่าเพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้นามสกุลนี้ไม่นานนัก

การสืบสายเลือดระหว่างพี่น้องเพื่อรักษาสายเลือดอันบริสุทธิ์ของตระกูลจึงเป็นเรื่องเหลวไหลในจินตนาการของคนเห็นแก่ตัวกลุ่มหนึ่งที่ลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ต่างๆ ในประเทศอินเดียดับสูญไป ซึ่งในหลายประเทศก็ยังคงมีแนวความคิดเช่นนี้อยู่ในบุคคลบางกลุ่ม

.........ยังมีต่อ

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ที่มาของนามสกุล



ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลขึ้นใช้ เพื่อให้เหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.2456 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ที่มาของนามสกุลจึงแตกต่างกันไปตามแต่ที่เจ้าของนามสกุลจะกำหนด เช่น
  • มีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า นามสกุลพระราชทานจำนวน 6,432 นามสกุล 
  • หลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อของผู้นำของครอบครัวนั้นๆ 
  • ส่วนมากก็จะตั้งตามราชทินนามของผู้เป็นบรรพบุรุษ (ราชทินนาม หมายถึง นามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของขุนนางผู้นั้น นามพระราชทานนี้อยู่ต่อท้ายบรรดาศักดิ์ (อันได้แก่เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุนหมื่น พัน ทนาย ฯ) ในบางกรณี ราชทินนาม พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เจ้ากระทรวงแต่งตั้งให้แก่ชนชั้นขุนนางที่ได้รับบรรดาศักดิ์ ดังนั้นราชทินนาม เป็นความดีความชอบที่มอบให้ แก่ชนชั้นปกครอง ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ราชทินนาม ยังใช้สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่นเจ้าคณะฯ)
  • ไปขอให้ พระภิกษุ/ผู้ใหญ่ ที่ตนเคารพนับถือเป็นผู้ตั้งให้ 
  • ให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ตั้งให้ตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนั้นๆ (กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นมีสติปัญญามากน้อยเพียงใด เพราะบางตำบล นามสกุลแทบจะเหมือนกันหมด บางตำบลก็เหมือนกันทั้งหมดโดยอ้างว่าเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองคนเก่า(ก็เหมารวมไปหมดน่ะแหละ ทั้งลูกชาย ลูกสาว ลูกเขย ลูกสะไภ้ น้องผัว น้องเมีย พ่อตา แม่ยาย)
ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถูกยกเลิกไปโดยมาตรา 3 ของ พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 ลง 15 พฤศจิกายน 2505

ดังนั้น บรรดาชาวต่างชาติที่รับราชการมียศฐาบรรดาศักดิ์ต่างก็มีนามสกุลสืบทอดสู่ลูกหลานไปด้วยตามกฎหมายนี้ แล้วก็เหมารวมไปถึงบรรดาชาวต่างชาติที่เป็นพ่อค้า คหบดี ชาวบ้านทั่วไป ก็มีโอกาสได้รับนามสกุลไปในคราวนี้เช่นกัน

ในบรรดากลุ่มที่ตั้งนามสกุลขึ้นเองนั้นไม่ได้หมายความว่าจะตั้งขึ้นเองได้ตามอารมณ์เหมือนกับผู้คนในสมัยนี้อย่างแน่นอน เพราะจะต้องสอบถามความเห็นจากบรรพบุรุษเสียก่อน จากเดิม นายมาก ลูกนายสอน หลานเจ้าพระยาตาหวาน เหลนหมื่นทลายภูผา ก็ต้องไปไต่ถามความเห็นจากต้นตระกูลที่มีอายุสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าจะใช้นามสกุลอะไร เมื่อตกลงใจได้แล้วจึงไปกระจายข่าวบอกต่อๆ กันไปในบรรดาลูกหลานให้ใช้นามสกุลนี้เหมือนๆ กัน ไม่ว่าลูกหลานเหล่านั้นจะโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ใด ก็จะต้องมีการส่งข่าวคราวไปถึงจนได้ เพราะมองเห็นถึงความสำคัญของสายเลือดที่สืบต่อกันมา (ส่วนใครจะผ่าเหล่าไปใช้อย่างอื่น ก็มีอยู่บ้าง ตามประสาคน)

จากการคำนวณอายุของพ่อที่เกิดเมื่อปี พ.ศ.2470 (ยังไม่สามารถบืนยันได้ชัดเจนว่าตุณพ่อเกิดที่ไหน ระหว่าง กรุงเทพ กับพระตะบอง) คุณปู่ซึ่งรับราชการอยู่ในขณะนั้น ควรจะมีอายุอยู่่ในช่วง 25 - 30 ปี เป็นอย่างน้อย คาดเดาได้ว่า คุณปู่น่าจะเกิดในช่วง พ.ศ.2440- 2445) ดังนั้น นามสกุล "เพ็ชร์รัตน์" ของคุณปู่ จึงน่าจะตั้งขึ้นตามคุณทวด หรือบรรพบุรุษซึ่งอยู่อาศัยที่บ้านครัว ซอยวัดพระยายัง ในกรุงเทพมหานคร เพราะการกำหนดให้ใช้นามสกุลมีขึ้นในช่วงที่คุณปู่เกิดมาแล้ว

สันนิษฐานได้ว่า นามสกุล "เพชรรัตน์" ในปัจจุบันนี้ หลายต้นตระกูลคงมีการเปลี่ยนแปลงมาจากของเดิมว่า "เพ็ชร์รัตน์" ทั้งสิ้นด้วยเหตุผลด้านนโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่เนื่องจากในช่วงปีดังกล่าว บรรพบุรุษที่สืบทอดโคตรเหง้ากันมานานได้แยกย้ายกันไปสร้างครอบครัว หรือประกอบอาชีพ ในต่างถิ่น มีการตั้งรกรากลงหลักปักฐานมั่นคงขยายเผ่าพงษ์สืบต่อกันมา บางส่วนที่รับราชการก็ถูกแต่งตั้งให้ไปรับราชการยังหัวเมืองต่างๆ เช่น ทางเหนือ ทางหลวงพระบาง ฝั่งตะวันออก ทางพระตะบอง เสียมเรียบ ทางใต้ก็จรดมลายู

ซึ่งการแยกย้านกันออกไปนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ช่วงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา มาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ต่อเนื่องมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการเดินทางโยกย้ายไปมาจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อชาติตะวันออกเริ่มกระบวนการล่าอาณานิคมกวาดต้อนชาติด้อยพัฒนามาเป็นเมืองขึ้น ทำให้อาาณาเขตของประเทศสยามลดน้อยลงมาเรื่อยๆ คนไทยบางกลุ่มที่ลงหลักปักฐานอยู่บางส่วนไม่สามารถละทิ้งถิ่นกำเนิดหรือที่ทำกิน ก็ต้องคงอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป มีส่วนน้อยที่ยอมย้ายถิ่นฐานกลับเข้ามาอยู่กับบรรพบุรุษในประเทศสยาม

โดยพื้นฐานของความเป็น "คน" ลูกหลานไทยส่วนมากเกือบร้อยเปอร์เซนต์จะไม่ทอดทิ้งบุพการีอย่างเด็ดขาด  ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ไกลเพียงใดก็จะต้องพาลูกหลานกลับมากราบไหว้บุพการีของตนไม่วันใดก็วันหนึ่ง คนรุ่นเก่าๆ จึงสามารถจดจำได้หมดว่า ปู่ ย่า ชื่ออะไร มีทวด ชื่ออะไร และญาติพี่น้องของปู่ย่ามีใครบ้าง? เรื่องเหล่านี้จึงต้องอาศัยคำบอกเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นชั่วเวลาเพียง 3 ชั่วอายุคนจึงไม่นานนัก เพราะปีหน้า 2556 ก็จะครบ 100 ปีของการมีนามสกุลใช้ในบ้านเรา

คงจะมีเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง 
ที่ทำให้ คุณปู่เอื้อม ท่านใช้นามสกุลว่า "เพ็ชร์รัตน์" ในปี 2456
ซึ่งช่วงเวลานั้นท่านคงยังไม่บรรลุนิติภาวะ 
ผู้ที่เลือกใช้นามสกุลนี้ จึงน่าจะเป็น คุณทวด 
และก็แน่นอนว่า คุณพ่อของคุณทวด ก็ย่อมยังมีชีวิตอยู่
และก็เป็นไปได้มากที่ คุณปู่ของคุณทวดก็ยังคงมีชีวิตอยู่ 
และมีโอกาสสูงเช่นกันที่ คุณทวดของคุณทวด อาจจะยังมีชีวิตอยู่

จึงสรุปได้ว่า ใคร ? เป็นผู้ตัดสินใจเลือกนามสกุลให้ลูกหลานได้ใช้สืบต่อกันมา
ซึ่งไม่ใช่ทั้งคุณพ่อ และคุณปู่  อย่างเด็ดขาด

(หากคิดคำนวณอายุเฉลี่ยห่างกัน 20 ปีตามบัญญัติไตรยางค์ คุณพ่อผมเกิด 2470 คุณปู่เกิด 2450 คุณทวดเกิด  2430 คุณพ่อของคุณทวด 2410 ซึ่งก็จะมีอายุเพียง 46 ปี เมื่อมีการเริ่มใช้นามสกุล)

ต้องขออภัยที่การนำเสนอข้อมูลไม่ต่อเนื่อง และไม่สมบูรณ์ เนื่องจากต้องทำการสืบค้นข้อมูลไปพร้อมๆ กับการเขียนบทควาามทำให้ต้องกลับมาแก้ไขข้อมูลทุกครั้งเมื่อได้รับข้อมูลใหม่มาเพิ่มเติม ไม่ว่ากันนะ