วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วันหนึ่งที่ผ่านไป


บ้านหลังนี้หน้าตาก็เหมือนกับบ้านที่อยู่อาศัยทุกวันนี้แหละครับ เพียงแต่ว่ามันเป็นภาพกราฟฟิคจากคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ภาพถ่ายจากกล้องหรือภาพวาด ฝีมือของลูกชายเมื่อตอนที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสำเร็จการศึกษา ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต(ภูมิสารสนเทศ) วท.บ.(ภูมิสารสนเทศ) หรือ  GIS เมื่อปี 2555 เป็นการสร้างภาพกราฟฟิคจากภาพถ่ายในส่วนสัดที่ถูกต้องตามความเป็นจริงทุกอย่าง มองผ่านๆ ยังนึกว่าของจริงเลย




เห็นขั้นตอนวิธีการสร้างแล้วนึกย้อนไปถึงช่วงปี 2516-2519 ซึ่งเข้าเรียนที่โรงเรียนการช่างปราจีนบุรี ในแผนกช่างก่อสร้าง วิชาที่ชอบมากที่สุดก็คือ กลศาสตร์ คณิตศาสตร์ช่าง และเขียนแบบ แต่ยุคสมัยนั้นเราเขียนแบบบนกระดาษเขียนแบบสีขาวแผ่นขนาด 1 เมตร จำได้ว่าถึงวิชาเขียนแบบทีก็ต้องวิ่งหาสตางค์ไปซื้อกระดาษทุกที ราคาในสมัยนั้นก็ไม่กี่บาทเอง และการเขียนก็ต้องบรรจงที่สุด ให้มีการแก้ไขน้อยที่สุด การลงเส้นเบาที่สุดจนแทบมองไม่เห็นก่อนที่จะมีการเน้นน้ำหนักลงไปเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้วว่าใช้ได้และถูกต้อง เส้นแต่ละเส้นจะต้องมีความมั่นใจที่สุดก่อนที่จะลากเดินหน้าไปในแต่ละเส้น โดยเฉพาะงานร่างโครงสร้างของบ้านทั้งหลัง ซึ่งในทุกวันนี้เมื่อมีโอกาสก็ยังมีอารมณ์ที่จะทำมันอีก

ซึ่งบ้านหลังนี้ก็เกิดมาจากการร่างและออกแบบเองด้วยมือเมื่อปี 2540 ใช้เวลาเขียนไป 5 วันบนกระดาษ A4 จำนวน 7 แผ่นแล้วก็ส่งต่อไปให้ช่างดำเนินการก่อสร้างตามแบบร่างนั่นเองรวมเวลาก่อสร้างประมาณ 3 เดือนหมดงบประมาณไป 8 แสนกว่าบาท พื้นที่ของบ้านประมาณ 120 ตารางเมตร มี 2 ห้องนอน 1 ห้องทำงาน 1 ห้องรับแขก+พักผ่อน 2 ห้องน้ำ+ส้วม 1 ระเบียงพักผ่อน กับพื้นที่เดินเล่นรอบบ้านอีก 3 ไร่เศษ แต่บ้านนี้ยังออกแบบไว้ไม่เสร็จนะครับ เพราะห้องครัวจะต้องสร้างต่อออกไปอยู่ทางด้านหลัง กำหนดให้เป็นห้องครัว กับ ห้องน้ำ+ส้วมอีก 1 ห้อง และต่อเชื่อมออกมาทางด้านข้างเป็นพื้นที่สำหรับรับรองแขกได้อีกทางหนึ่ง ส่วนอีกด้านกำหนดให้เป็นโรงจอดรถก็ยังไม่เสร็จเช่นกัน เพราะหมดงบเสียก่อนและก็ระงับการสร้างไว้ก่อนที่จะบานปลายไปมากกว่านี้

ตอนนี้ลูกชายก็มีงานทำแล้ว(เป็นการชั่วคราว) ก็คงเป็นไปตามวัฏจักรของชีวิตผู้คนนั่นแหละ เนื่องจากนักศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรีทั่วประเทศมีมากมายมหาศาล ต่างก็พากันตกงานกันถ้วนหน้านอกเสียจากว่ามีรากฐานฐานะทางบ้านดีอยู่แล้ว มีธุรกิจหรือกิจการส่วนตัวรองรับ มีเส้นสายในวงการธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ หรือในวงราชการ  เพราะงานราชการทั่วไปนั้นไม่ค่อยจะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้าไปสัมผัสกล้ำกรายเอาเสียเลย นอกจากลูกท่านหลานเธอที่บางหน่วยทำงุบงิบปิดประกาศรับสมัครก่อนหมดเวลาสมัครวันเดียว แต่บางหน่วยเจ็บแสบกว่านั้นเอาประกาศรับสมัครมาปิดบนบอร์ดในวันเดียวกับที่จะมีการสอบคัดเลือกพอดี หรือไม่ก็เอามาติดพร้อมกับผลการสอบเลยทีเดียว ก็ติดดูแล้วกันว่าคนธรรมดาเดินดินทั่วไปจะมีปัญญาตรัสรู้อะไรได้บ้างเล่า

บ้านเราวันนี้ แม้แต่จะสมัครเข้าทำงานใน อบต.ก็ต้องมีเส้นสาย เป็นเด็กในสายของคนในโดยเฉพาะ หรือมีบัตรฝากจากท่าน ส.ส. ท่าน ส.จ.มาเป็นกรณีพิเศษ ยิ่งถ้าเป็นหัวคะแนนใหญ่ก็ยิ่งมีบารมีแก่กล้าสามารถฝากลูกหลานท่านเข้าทำงานได้อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องความรู้ความสามารถ จะมีหรือไม่มี ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะประเทศชาติไม่เคยได้มีโอกาสพึ่งพาบุคคลเหล่านี้แม้แต่น้อย งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ส่งออกไปถึงหน่วยราชการส่วนท้องถิ่น มากกว่าครึ่งสูญสลายไประหว่างทางอย่างไร้วี่แวว ส่วนที่เหลือไปถึงหน่วยงานก็ถูกจ้องมองตาเป็นมัน ผู้บริหารต่างก็มองหาช่องทางเข้าครอบครองส่วนที่เหลือนี้ด้วยวิธีการอันแยบยลหรือไม่ก็แบบหน้าด้านๆ 

สิ่งที่ชาวบ้านได้รับจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็คือ ความน่ารำคาญกับพิธีการและขั้นตอนในกรรมวิธีการดำเนินงานของทางราชการ และความว่างเปล่า

แทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาเลยในบางพื้นที่ นอกจาก นายก อบต.มีลูกหลานเป็นสมาชิก อบต. มีน้องชายเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีลุงเป็นเจ้าอาวาส มีลูกสาวเป็น ผอ.โรงเรียน และมีลูกบ้านในตำบลนั้นเกือบ 700 คนมีนามสกุลเดียวกัน การแข่งขันกันก็อาจจะเป็นของคนนามสกุลเดียวกันในทุกครั้ง

นามสกุลจึงกลายเป็นคำตอบในการเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้ง เช่นเดียวกับการเลือก ส.ส.ของหลายๆ จังหวัดในบ้านเราที่คนเดิมๆ มักจะผ่านการคัดเลือกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งๆ ที่บางคนไม่เคยมีผลงานอะไรเลยสักอย่างในชีวิตนักการเมือง บางคนได้เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ก็ยังสะเออะมาคุยฟุ้งว่าประชาชนเลือกเข้ามา ทั้งที่ความจริงแล้วมีคนเกลียดขี้หน้าค่อนประเทศ แต่บังเอิญทำงานรับใช้ ถูกใจ "เจ้าของพรรค" เค้าเลยยัดรายชื่อซุกๆ เข้ามาเพราะรู้ดีว่าถ้าส่งไอ้หมอนี่ลงสมัครด้วยตัวเอง ชาตินี้จนถึงชาติหน้า ก็คงไม่มีใครลงคะแนนให้มัน  ...แม้แต่พ่อแม่ของตัวเอง

โล่งใจอยู่บ้างที่แถวบ้านไม่มีญาติพี่น้องคนไหนเล่นการเมือง แม้แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็แทบไม่มี ส่วนมากจะเป็นสายงานธุรกิจส่วนตัว หรือ รับจ้างทั่วไปมากกว่า อาจจะมีบางท่านไปเป็นครูบาอาจารย์ นักวิชาการ แต่ก็เงียบสงบไม่สร้างข่าวคราวครึกโครม ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวเวลาเข้ากูเกิ้ลแล้วค้นหา "เพชรรัตน์" เป็นต้องเจอน้องปอยนำหน้ามาโด่งเลย  มีระยะหลังๆ นี่เริ่มมี น้องพริม เพชรรัตน์ นักร้องวัยรุ่นเข้ามาทดแทนไปบ้าง ตามมาด้วย โรงพยาบาล สถานประกอบการแทบทุกชนิด และรวมไปถึง "ตำนานเพชรรัตน์" ที่เคยพูดถึงไปแล้ว บ้างก็เป็นชื่อถนน ชื่อซอย จิปาถะ และที่ฮิตมากที่สุดก็คือนำไปตั้งเป็นชื่อตัวเสียเลย 

คำว่า เพชรรัตน์ (เพ็ด-ชะ -รัต) ประกอบด้วยคำว่า เพชร กับ รัตน์. คำว่า รัตน์ แปลว่า แก้ว. 
เพชรรัตน์ แปลว่า แก้วที่เป็นเพชร . 
คำว่า เพชรรัตน์ ออกเสียงเป็น ๓ พยางค์ ให้ ช ซึ่งเป็นตัวสะกดของพยางค์ที่ ๑ ออกเสียงเป็นพยางค์ที่ ๒ ในลักษณะที่เป็นเสียงเชื่อมอย่างพยางค์เบา ส่วนตัว ร ไม่ออกเสียง. 
คำที่ขึ้นต้นด้วย เพชร และออกเสียงอย่าง เพชรรัตน์ มีหลายคำ เช่น เพชรกลับ (เพ็ด-ชะ -กฺลับ) และ เพชรหลีก (เพ็ด-ชะ -หลีก) ซึ่งเป็นชื่อว่าน. เพชรหึง (เพ็ด-ชะ -หึง) หมายถึง ลมพายุใหญ่และเป็นชื่อกล้วยไม้. เพชรฤกษ์ (เพ็ด-ชะ -เริก ) หมายถึง ฤกษ์ยามที่ถือว่าเป็นฤกษ์แข็ง. เพชรบูรณ์ (เพ็ด-ชะ -บูน) แปลว่า เต็มไปด้วยเพชร เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งของไทย. เพชรดา (เพ็ด-ชะ -ดา) หมายถึง ความแข็ง ความอยู่ยงคงกระพัน. 
คำทั้งหมดนี้อ่านเป็น ๓ พยางค์ ๒ พยางค์แรกอ่านว่า เพ็ด-ชะ ไม่ออกเสียง ร 
(ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.)

วันว่าง ... อารมณ์กลับไม่เคยว่าง









วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ฟ้าไม่ได้ลิขิต


คงได้แต่เดาช่วงเวลาน่ะครับว่าภาพถ่ายนี้เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.2510 ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี(ซึ่งปัจจุบันแยกออกมาเป็นจังหวัดสระแก้ว) เป็นภาพถ่ายของคุณแม่เยื้อ เพชรรัตน์ กับนางอุษา เพชรรัตน์(ชักนำ) นางจงรัก เพชรรัตน์(อินทศรี) และนายภักดี เพชรรัตน์ ถ่ายในห้องนอนของคุณพ่อกับคุณแม่ ผู้ที่ถ่ายภาพก็คือตัวคุณพ่อคงเดช เพชรรัตน์เองแหละครับ พอดีไปขุดคุ้ยเอกสารเก่าๆ ก็พบกับภาพนี้วางปะปนอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ภาพถ่ายนี้ทำให้ย้อนระลึกถึงช่วงเวลาที่เป็นอยู่ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

อำเภอตาพระยา ในช่วงเวลาที่ครอบครัวของผมย้ายไปอยู่นั้น (พ.ศ.2509 - 2513) เป็นพื้นที่สีแดงตามแนวคิดของรัฐบาลสมัยนั้น (ซึ่งคงต้องยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบานด้วยความเต็มใจว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ) คำว่า ผกค.มีปะปนอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ใครไม่ยอมสบตากับเจ้าหน้าที่ทางการก็มักจะถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์น่าสงสัย อาจจะถูกลากตัวไปสอบสวนง่ายๆ แต่ถ้าใครบังอาจสบตากับเจ้าหน้าที่อย่างไม่หวั่นเกรงก็อาจจะถูกเพ่งเล็งในข้อหาเดียวกันได้เหมือนกัน เป็นที่ทราบกันดีสำหรับคนในยุคนั้นว่าบ้านเมืองของเราอยู่ในสภาพของความหวาดระแวงเช่นไร โดยเฉพาะในกรณีที่การติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน "ไม่มี" แต่มีในลักษณะที่เรียกกันว่า "การโฆษณาชวนเชื่อ" เสียมากกว่า ผ่านทางกระบวนการ "หนังขายยา" ที่มีการฉายภาพยนตร์ข่าวการทำงานของรัฐบาล บางทีก็เป็นการ์ตูนเรื่องรามเกียรติ์ แต่บทภาพยนตร์ดัดแปลงเป็นแนวต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งเรื่อง มีการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ก่อนจะฉายหนังเรื่องสลับกับการขายยา ใครจะไปรู้ว่ามันจะมีอิทธิพลต่อความคิดของชาวบ้านได้แค่ไหน แต่สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวผมมองเห็นถึงภาพลบมากกว่า เพราะรัฐบาลทหารนั่งวางแผนจุดเทียนวาดภาพระบายสีความฝันอันบรรเจิดอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ประชาชนชาวบ้านได้พบกับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ประสบกับการข่มเหงรังแกจากข้าราชการ หน่วยงานของรัฐจริงๆ ถูกข่มขู่คุกคามจากคนของรัฐจริงๆ และหลายคนก็ติดคุก บาดเจ็บล้มตายไปด้วยสาเหตุต่างๆ ที่ไม่เคยมีการสอบสวนเกิดขึ้นมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว

นั่นคือสภาพของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น (เอ ช่วงเวลานี้ก็ดูเหมือนจะยังมีอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ แต่มันไม่ค่อยเอิกเกริกเหมือนเมื่อก่อน) สื่อสารมวลชนในยุคนั้นตาบอด เป็นใบ้ หูหนวก กันถ้วนหน้า และยาวนานมาจนถึงยุคปัจจุบันที่นักธุรกิจการเมืองเข้าครอบงำสื่อมวลชนไว้อย่างเบ็ดเสร็จโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เจ้าของสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ ตลอดจนสื่อโฆษณาทุกแขนงต่างถูกครอบครองไว้โดยนายทุน นักธุรกิจการเมือง เพื่ออาศัยเป็นกระบอกเสียงในการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คน การกลบเกลื่อนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยกระจายข่าวสารที่ถูกบิดเบือนออกไปสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องผ่านทางสื่อต่างๆ หรือแอบแฝงไว้ในโฆษณา ละครทีวี รายการเกมโชว์ รายการสนทนาต่างๆ

มาาว่าถึงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวผมในช่วงเวลานั้นบ้าง แม้จะเป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อยเงินเดือนไม่กี่ร้อยบาทแต่ครอบครัวผมก็มีกันถึง 7 ชีวิต ชีวิตประจำวันของแม่ก็คือการดูแลเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 5 คน ซึ่งคุณพ่อก็จะออกไปทำงานตอนเช้าพร้อมกับลูกอีก 4 คนก็จะต้องไปโรงเรียนในวันธรรมดาเหลือคนเล็กที่กำลังซนเพียงคนเดียวอยู่ช่วยเหลือวุ่นวายกับคุณแม่ที่จะต้องทำความสะอาดเล้าหมูที่มีแม่หมูอยู่ 2 ตัว บางโอกาสก็จะมีลูกอ่อนๆ อีกนับสิบตัว ต้องต้มข้าวคลุกรำแล้วก็หั่นซอยผักบุ้ง ผักตบชวา ปนลงไป แล้วก็ถึงคิวของ เป็ดไก่ ที่มีมากมายจนนับไม่ถ้วนรอบบริเวณบ้าน ส่วนเล้าไก่ เล้าหมู ก็เป็นฝีมือของคุณพ่อกับคุณลูกๆ ที่ช่วยกันสร้างบวกกับความช่วยเหลือของเพื่อนบ้านนิดหน่อย จากนั้นคุณแม่ก็จะต้องไปไกลจากหลังบ้านนิดหน่อยเพื่อดูแลพรวนดินแปลงพืชผักสวนครัวครบถ้วนรวมไปถึงแปลงถั่วฝักยาว ค้างบวบ แปลงฟักทอง แถมด้วยแปลงมันเทศ มันสำปะหลัง อ้อย จิปาถะ เท่าที่จะหาเมล็ดพันธุ์มาปลูกได้

ไม่ไกลจากบ้านมากนักจะเป็นทุ่งนาที่ลุ่ม ซึ่งเมื่อฝนตกใหม่ๆ น้ำก็จะท่วมเกือบถึงคอเด็กๆ ห่างออกไปก็มีสระน้ำขนาดใหญ่แต่ก็แห้งขอดทุกปีแต่ยังพออาศัยสายบัวมากินได้เป็นฤดูกาล ผมเองชอบผักบุ้งที่เรียกกันว่า "ชะลูดน้ำ" เพราะเวลาน้ำหลากมาผักบุ้งจะทยานตัวโตเพื่อให้พ้นน้ำโดยโผล่ให้เห็นเพียงยอดเล็กๆ เท่านั้น แต่เวลาเด็ดผมมักจะมุดลงไปเด็ดถึงโคนต้นเพื่อให้ได้ผลเต็มที่ เนื่องจากมันจะมีแต่ลำต้นกรอบๆ ที่ทอดยาวกว่าช่วงแขนเท่านั้นไม่มีใบปะปนมาแม้แต่น้อย ภารกิจประจำวันของคุณแม่นั้นมีมากมายจนแทบมองไม่เห็นเวลาพักผ่อน แต่พวกลูกๆ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระกันออกไปบ้างตามสมควร เช่น การหุงข้าวซึ่งเป็นการหุงข้าวด้วยหม้อแบบเช็ดน้ำ(นี่แหละที่รอคอย "น้ำข้าว" ยอดอาหารอุดมโปรตีนของเด็กรุ่นผม มีทั้งใส่เกลือนิดหน่อย หรือแบบใส่น้ำตาลนิดหน่อย) อันนี้เป็นภารกิจของพี่ชายคนโต ส่วนผมรับภาระหน้าที่ในการล้างถ้วยจาน น้องสาวอีกสองคนรับผิดชอบในการทำความสะอาดบ้านกวาดถูทุกๆ ห้อง และงานเหล่านี้รวมไปถึงการช่วยเหลือคุณแม่ในการเลี้ยงดูสัตว์ที่มีอยู่ และการดูแลแปลงผักอีกด้วย

บางช่วงเวลาคุณแม่จะหอบคันเบ็ดไม้ไผ่ที่คุณพ่อเหลาขึ้นมาสองสามคันขึ้นบ่าพร้อมข้องใส่ปลาเดินลัดเลาะไปตามลำห้วยท้ายหมู่บ้าน หายไปซักสี่ห้าชั่วโมงก็หอบปลากลับมามากมาย ผมเองเคยตามไปกับคุณแม่ เชื่อมั้ยล่ะ ว่าพอวางเบ็ดลงหันไปเกี่ยวเหยื่ออีกคัน คันที่หย่อนลงไปนั้นโดนปลาฮุบเหยื่อซะแล้ว พอหันไปปลดปลาตัวนั้นออก คันที่เพิ่งวางลงก็ติดอีกแล้ว เบ็ดทั้งสามคันไม่ได้มีโอกาสวางนิ่งเฉยได้เลยและปลาที่ติดก็มีทั้งปลาหมอ ปลาเนื้ออ่อนขนาดเท่าฝ่ามือ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากลด ตัวเกือบเท่าแขน และเมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันคุณแม่จะตำน้ำพริกห่อใบตองมากับข้าวสวย ส่วนพวกผักก็เด็ดเอาตามขอบห้วยนั่นเองซึ่งมีอยู่มากมายและคุณแม่ก็เลือกได้เป็นอย่างดีว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้

ก็แปลกนะที่บ้านเราไม่ค่อยชอบกินหมู หรือเป็ดไก่ที่เลี้ยงเอาไว้ในบ้านเท่าไรนัก นอกจากจะจำเป็นจริงๆ ก็จะไปซื้อเอาจากตลาด อาหารที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเมนูปกติส่วนมากจะเป็นอาหารพื้นบ้าน ของโปรดของคุณพ่อจะเป็นพวกเขียดหรืออึ่งอ่างตากแห้งย่าง จะเอามาต้มโคล้งร้อนๆ แซบอย่าบอกใคร ส่วนพวกอาหารป่านั้นมีมากมายทุกชนิด เนื้อช้าง เสือ วัวกระทิง กวาง กระจง เม่น ตะกวด งูเหลือม น้ำผึ้งหลวง มีชาวบ้านเดินเอามาขายถึงบ้านทุกวันไม่เคยขาด ส่วนผมกับพี่ชายถนัดนี่จะออกไปกับเพื่อนๆ ในป่าหาขุดแย้ ขุดบึ้ง ไล่ยิงกระปอมบนต้นไม้มาเผาไฟกินหรือสับทำลาบกินกันมากกว่า

ชีวิตบ้านป่า การกินของป่านั้นเป็นเรื่องปกติสามัญ และมีแต่คนป่าเท่านั้นที่จะเรียนรู้ว่าอะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน นิสัยนั้นบางอย่างติดตัวมาถึงทุกวันนี้ ผมกินของทุกอย่างที่คนอื่นกินได้ทั้งหมด และสามารถกินของบางอย่างที่คนอื่นไม่กิน โดยเฉพาะเรื่องรสชาติของอาหาร ผมไม่เคยใส่ใจแม้แต่น้อย คนบางคนอาจจะนิยมชมชอบรสชาติของอาหารร้านนั้นร้านนี้ นั่นเป็นอุปาทานของแต่ละคนเสียมากกว่า

กินง่าย ... ตายยาก 
นี่แหละคติชีวิตของผม