วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ค่าน้ำนม


หากจะมีการวัดระดับฐานะของเส้นทางสายเพชรรัตน์เส้นทางนี้ สามารถระบุได้ว่าอยู่ในฐานะของชนชั้นกลางระดับล่าง นั่นหมายความว่ามีฐานะความเป็นอยู่แบบยากจน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 จนถึง 2507 ไม่มีลูกคนไหนที่คาบช้อนเงินช้อนทองออกมา มีแต่เสียงร้องเรียกหาน้ำนมจากอกแม่ แต่ทุกคนเมื่อเริ่มจะอดนมแม่ก็จะมีโอกาสได้กินกล้วยน้ำว้าบดเหมือนกันทุกๆ คน ไม่เคยมีใครได้ลิ้มรสนมผงสำเร็จรูป หรืออาหารเสริมต่างๆ ไม่เคยมีใครสวมใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ทุกคนมีส่วนในการได้สัมผัสกับผ้าอ้อมที่ทำมาจากผ้าถุงเก่าๆ ของแม่เหมือนกัน ทุกๆ คนไดนอนเปลที่ทำจากผ้าถุงของแม่ หรือผ้าขาวม้าของพ่อกันมาเหมือนๆ กัน และลูกทุกคนใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างร่วมกันมากับแม่โดยตลอดไม่เคยแยกห่างจากกัน ตั้งแต่เกิดจนถึงเติบใหญ่ ร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลาย จึงเริ่มเหินห่างกันออกไปเป็นครั้งคราว เพื่อประกอบอาชีพ

ความผูกพันกับแม่จึงเป็นสายใยที่แน่นหนาเกินกว่าที่จะมีใครมาเข้าใจ

ลูกชายทั้งสามคนของแม่ ได้ทดแทนพระคุณของค่่าน้ำนมด้วยการลาอุปสมบทกันถ้วนหน้า ให้พ่อแม่ได้ชื่นชมชายผ้าเหลือง เป็นการทำหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนไทยเชื้อสายพุทธอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องมีใครมาอ้อนวอนขอร้องให้บวชแต่ประการใด


นายสมพงษ์ ชักนำ คุณพ่อคงเดช พระวิมล คุณโยม และนางอุษา ชักนำ
ที่จังหวัดกาญจนบุรี


คุณพ่อคงเดช คุณแม่เยื้อ พ่อนาคชนินท์ คุณยายฟ้อน คุณอมรวรรณ กาญจนาวิศาล
ที่วัดหลวงปรีชากูล จังหวัดปราจีนบุรี


พระภิกษุชนินท์ ในพระอุโบสถ วัดหลวงปรีชากูล



นางสาวอุษา เพชรรัตน์ พระภักดี และ นางสาวจงรัก เพชรรัตน์
ที่วัดหลวงปรีชากูล จังหวัดปราจีนบุรี

ก็เป็นการบวชในขณะที่ คุณยายฟ้อน คุณพ่อคงเดชและคุณแม่เยื้อ ยังคงมีชีวิตอยู่ทั้ง 3 รายการ นับเป็นบุญกุศลที่ส่งให้ท่านผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วได้ไปสู่สุขคติในสัมปรายภพ ด้วยความสงบ

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บนถนนของวันนี้


ภาพข้างบนถ่ายไว้เมื่อปีพุทธศักราช 2507 ที่ห้องเช่าระหว่างซอย 3 กับซอย 5 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ขาดคุณพ่อเพียงคนเดียว และก็ถือได้ว่าเป็นสายเลือดเพชรรัตน์สายนี้เพียง 5 คนเท่านั้นที่จะต้องแพร่กระจายขยายเส้นทางสายนี้อออกไป

ดังที่เคยกล่าวถึง การมีบุตรชายตามธรรมเนียมไทยถือว่าจะต้องเป็นผู้สืบทอดนามสกุลต่อๆ กันไป ส่วนบุตรที่เป็นผู้หญิงก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของสามี บุตรที่เกิดมาก็จะต้องใช้นามสกุลของสามี และสืบทอดนามสกุลของสามีต่อไป การคงอยู่ของนามสกุลเดิมก็จะหมดสิ้นไปเหลือแต่เพียงในความทรงจำของลูกหลานเท่านั้นที่จดจำไว้ว่า แม่ ยาย  ย่า หรือ ทวด ของตนเคยใช้นามสกุล เพชรรัตน์

แต่ในยุคปัจจุบัน แม้แต่ผู้หญิงก็สามารถดำรงรักษานามสกุลเดิมของตนไว้ได้เช่นเดียวกับฝ่ายชาย แม้ว่าจะแต่งงานแล้ว จึงสามารถรักษาความเป็นคนในตระกูลไว้ได้ตลอดชั่วอายุขัย ซึ่งจะทำให้ลูกหลานได้จดจำไว้แน่นสนิทไม่ลืมเลือน 

แต่ในกรณีที่หย่าขาดจากสามีและได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรชายหญิง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเดิมของลูกมาใช้นามสกุลเดิมของตน ทำให้เห็นชัดได้ถึงความเข้มข้นของสายเลือดที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้คลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์เดิมของบรรพบุรุษ 

ดังเช่นในอดีตที่มีผู้คนมากมายเปลี่ยนนามสกุลมาใช้ เพชรรัตน์ โดยง่ายดาย เพียงให้เจ้าของนามสกุลเซ็นต์รับรองเพียงคนเดียวก็อนุมัติให้เปลี่ยนได้แล้ว หรือแม้แต่เหล่าศิลปินที่อยากจะใช้นามสกุลอะไร ก็สามารถกำหนดขึ้นมาใช้เองโดยพลการโดยไม่คิดถึงผู้ที่มีสิทธิในนามสกุลนั้นอย่างแท้จริง

นามสกุล จึงเป็นเพียงสิ่งสมมุติ เหมือนกับความเป็นคนไทยที่แท้ ที่ไม่สามารถจะหาได้อย่างแน่นอน เพราะบรรพบุรุษของเรามีความสัมพันธ์กันอย่างสนิทแนบแน่นกับชนชาติอื่นอีกมากมายมาแต่โบราณกาล นามสกุลจะโดดเด่นอย่างมีศักดิ์ศรีก็ต่อเมื่อผู้ใช้สร้างแต่ความดีงาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางครั้งผู้ใช้นามสกุลนี้ก็สร้างความเสื่อมเสียให้กับวงศ์ตระกูลด้วยการกระทำความผิดอาญา และก็ชวนให้เจ็บแค้นในใจเมื่อคนๆ นั้นยอมรับว่าเพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้นามสกุลนี้ไม่นานนัก

การสืบสายเลือดระหว่างพี่น้องเพื่อรักษาสายเลือดอันบริสุทธิ์ของตระกูลจึงเป็นเรื่องเหลวไหลในจินตนาการของคนเห็นแก่ตัวกลุ่มหนึ่งที่ลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ต่างๆ ในประเทศอินเดียดับสูญไป ซึ่งในหลายประเทศก็ยังคงมีแนวความคิดเช่นนี้อยู่ในบุคคลบางกลุ่ม

.........ยังมีต่อ

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ที่มาของนามสกุล



ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลขึ้นใช้ เพื่อให้เหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.2456 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ที่มาของนามสกุลจึงแตกต่างกันไปตามแต่ที่เจ้าของนามสกุลจะกำหนด เช่น
  • มีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า นามสกุลพระราชทานจำนวน 6,432 นามสกุล 
  • หลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อของผู้นำของครอบครัวนั้นๆ 
  • ส่วนมากก็จะตั้งตามราชทินนามของผู้เป็นบรรพบุรุษ (ราชทินนาม หมายถึง นามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของขุนนางผู้นั้น นามพระราชทานนี้อยู่ต่อท้ายบรรดาศักดิ์ (อันได้แก่เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุนหมื่น พัน ทนาย ฯ) ในบางกรณี ราชทินนาม พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เจ้ากระทรวงแต่งตั้งให้แก่ชนชั้นขุนนางที่ได้รับบรรดาศักดิ์ ดังนั้นราชทินนาม เป็นความดีความชอบที่มอบให้ แก่ชนชั้นปกครอง ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ราชทินนาม ยังใช้สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่นเจ้าคณะฯ)
  • ไปขอให้ พระภิกษุ/ผู้ใหญ่ ที่ตนเคารพนับถือเป็นผู้ตั้งให้ 
  • ให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ตั้งให้ตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนั้นๆ (กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นมีสติปัญญามากน้อยเพียงใด เพราะบางตำบล นามสกุลแทบจะเหมือนกันหมด บางตำบลก็เหมือนกันทั้งหมดโดยอ้างว่าเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองคนเก่า(ก็เหมารวมไปหมดน่ะแหละ ทั้งลูกชาย ลูกสาว ลูกเขย ลูกสะไภ้ น้องผัว น้องเมีย พ่อตา แม่ยาย)
ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถูกยกเลิกไปโดยมาตรา 3 ของ พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 ลง 15 พฤศจิกายน 2505

ดังนั้น บรรดาชาวต่างชาติที่รับราชการมียศฐาบรรดาศักดิ์ต่างก็มีนามสกุลสืบทอดสู่ลูกหลานไปด้วยตามกฎหมายนี้ แล้วก็เหมารวมไปถึงบรรดาชาวต่างชาติที่เป็นพ่อค้า คหบดี ชาวบ้านทั่วไป ก็มีโอกาสได้รับนามสกุลไปในคราวนี้เช่นกัน

ในบรรดากลุ่มที่ตั้งนามสกุลขึ้นเองนั้นไม่ได้หมายความว่าจะตั้งขึ้นเองได้ตามอารมณ์เหมือนกับผู้คนในสมัยนี้อย่างแน่นอน เพราะจะต้องสอบถามความเห็นจากบรรพบุรุษเสียก่อน จากเดิม นายมาก ลูกนายสอน หลานเจ้าพระยาตาหวาน เหลนหมื่นทลายภูผา ก็ต้องไปไต่ถามความเห็นจากต้นตระกูลที่มีอายุสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าจะใช้นามสกุลอะไร เมื่อตกลงใจได้แล้วจึงไปกระจายข่าวบอกต่อๆ กันไปในบรรดาลูกหลานให้ใช้นามสกุลนี้เหมือนๆ กัน ไม่ว่าลูกหลานเหล่านั้นจะโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ใด ก็จะต้องมีการส่งข่าวคราวไปถึงจนได้ เพราะมองเห็นถึงความสำคัญของสายเลือดที่สืบต่อกันมา (ส่วนใครจะผ่าเหล่าไปใช้อย่างอื่น ก็มีอยู่บ้าง ตามประสาคน)

จากการคำนวณอายุของพ่อที่เกิดเมื่อปี พ.ศ.2470 (ยังไม่สามารถบืนยันได้ชัดเจนว่าตุณพ่อเกิดที่ไหน ระหว่าง กรุงเทพ กับพระตะบอง) คุณปู่ซึ่งรับราชการอยู่ในขณะนั้น ควรจะมีอายุอยู่่ในช่วง 25 - 30 ปี เป็นอย่างน้อย คาดเดาได้ว่า คุณปู่น่าจะเกิดในช่วง พ.ศ.2440- 2445) ดังนั้น นามสกุล "เพ็ชร์รัตน์" ของคุณปู่ จึงน่าจะตั้งขึ้นตามคุณทวด หรือบรรพบุรุษซึ่งอยู่อาศัยที่บ้านครัว ซอยวัดพระยายัง ในกรุงเทพมหานคร เพราะการกำหนดให้ใช้นามสกุลมีขึ้นในช่วงที่คุณปู่เกิดมาแล้ว

สันนิษฐานได้ว่า นามสกุล "เพชรรัตน์" ในปัจจุบันนี้ หลายต้นตระกูลคงมีการเปลี่ยนแปลงมาจากของเดิมว่า "เพ็ชร์รัตน์" ทั้งสิ้นด้วยเหตุผลด้านนโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่เนื่องจากในช่วงปีดังกล่าว บรรพบุรุษที่สืบทอดโคตรเหง้ากันมานานได้แยกย้ายกันไปสร้างครอบครัว หรือประกอบอาชีพ ในต่างถิ่น มีการตั้งรกรากลงหลักปักฐานมั่นคงขยายเผ่าพงษ์สืบต่อกันมา บางส่วนที่รับราชการก็ถูกแต่งตั้งให้ไปรับราชการยังหัวเมืองต่างๆ เช่น ทางเหนือ ทางหลวงพระบาง ฝั่งตะวันออก ทางพระตะบอง เสียมเรียบ ทางใต้ก็จรดมลายู

ซึ่งการแยกย้านกันออกไปนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ช่วงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา มาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ต่อเนื่องมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการเดินทางโยกย้ายไปมาจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อชาติตะวันออกเริ่มกระบวนการล่าอาณานิคมกวาดต้อนชาติด้อยพัฒนามาเป็นเมืองขึ้น ทำให้อาาณาเขตของประเทศสยามลดน้อยลงมาเรื่อยๆ คนไทยบางกลุ่มที่ลงหลักปักฐานอยู่บางส่วนไม่สามารถละทิ้งถิ่นกำเนิดหรือที่ทำกิน ก็ต้องคงอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป มีส่วนน้อยที่ยอมย้ายถิ่นฐานกลับเข้ามาอยู่กับบรรพบุรุษในประเทศสยาม

โดยพื้นฐานของความเป็น "คน" ลูกหลานไทยส่วนมากเกือบร้อยเปอร์เซนต์จะไม่ทอดทิ้งบุพการีอย่างเด็ดขาด  ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ไกลเพียงใดก็จะต้องพาลูกหลานกลับมากราบไหว้บุพการีของตนไม่วันใดก็วันหนึ่ง คนรุ่นเก่าๆ จึงสามารถจดจำได้หมดว่า ปู่ ย่า ชื่ออะไร มีทวด ชื่ออะไร และญาติพี่น้องของปู่ย่ามีใครบ้าง? เรื่องเหล่านี้จึงต้องอาศัยคำบอกเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นชั่วเวลาเพียง 3 ชั่วอายุคนจึงไม่นานนัก เพราะปีหน้า 2556 ก็จะครบ 100 ปีของการมีนามสกุลใช้ในบ้านเรา

คงจะมีเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง 
ที่ทำให้ คุณปู่เอื้อม ท่านใช้นามสกุลว่า "เพ็ชร์รัตน์" ในปี 2456
ซึ่งช่วงเวลานั้นท่านคงยังไม่บรรลุนิติภาวะ 
ผู้ที่เลือกใช้นามสกุลนี้ จึงน่าจะเป็น คุณทวด 
และก็แน่นอนว่า คุณพ่อของคุณทวด ก็ย่อมยังมีชีวิตอยู่
และก็เป็นไปได้มากที่ คุณปู่ของคุณทวดก็ยังคงมีชีวิตอยู่ 
และมีโอกาสสูงเช่นกันที่ คุณทวดของคุณทวด อาจจะยังมีชีวิตอยู่

จึงสรุปได้ว่า ใคร ? เป็นผู้ตัดสินใจเลือกนามสกุลให้ลูกหลานได้ใช้สืบต่อกันมา
ซึ่งไม่ใช่ทั้งคุณพ่อ และคุณปู่  อย่างเด็ดขาด

(หากคิดคำนวณอายุเฉลี่ยห่างกัน 20 ปีตามบัญญัติไตรยางค์ คุณพ่อผมเกิด 2470 คุณปู่เกิด 2450 คุณทวดเกิด  2430 คุณพ่อของคุณทวด 2410 ซึ่งก็จะมีอายุเพียง 46 ปี เมื่อมีการเริ่มใช้นามสกุล)

ต้องขออภัยที่การนำเสนอข้อมูลไม่ต่อเนื่อง และไม่สมบูรณ์ เนื่องจากต้องทำการสืบค้นข้อมูลไปพร้อมๆ กับการเขียนบทควาามทำให้ต้องกลับมาแก้ไขข้อมูลทุกครั้งเมื่อได้รับข้อมูลใหม่มาเพิ่มเติม ไม่ว่ากันนะ


วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กำเนิดของครอบครัว


คุณพ่อสิงหเรศ เพ็ชร์รัตน์ เปลี่ยนชื่อนามสกุลใหม่ เป็น นายคงเดช เพชรรัตน์  แต่ไม่สามารถหาหลักฐานแน่นอนว่าเป็นเมื่่อใดในช่วงระหว่างปี 2490  ถึง พ.ศ.2497 ส่วนสาเหตุที่เปลี่ยนก็คงจะมาจาก "นโยบายรัฐนิยม" ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีการปฏิวัติตั้งแต่การปกครอง การใช้ภาษา ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อที่ดูไม่เป็นชายชาตรีจึงไม่เหมาะสมกับผู้ที่เป็นข้าราชการัทั่วไป ส่วนนามสกุลนั้นก็อาจจะมีความจำเป็นต้องตัดไม้ไต่คู้ออกก็เพื่อให้ดูเรียบง่ายสบายตาเหมาะสมกับรัฐนิยมเท่านั้นเอง  เพราะยุคนั้นมีการปฏิวัติการใช้ภาษากันมากมาย(จนบางเรื่องออกจะโอเวอร์หลุดโลกไปมากๆ อย่างเช่น การกำหนดเรื่องการสะกดคำแบบใหม่ จนทำให้ครูบาอาจารย์แทบจะผูกคอตายไปตามๆ กัน ถ้ามีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน โชคดีที่ท่านหมดอำนาจไปเสียก่อน เปิดโอกาสให้ผู้นำคนใหม่มาแสดงอาการหลุดโลกให้ผู้คนได้เห็นกันต่อไป เห็นได้เท่านั้น พูดไม่ได้)  และก็เป็นการลดความฟุ่มเฟือยในการใช้วรรณยุกต์อีกด้วย เนื่องจากว่าต้องออกเสียงว่า "เพ็ด" เหมือนกัน แม้จะไม่มีไม้ไต่คู้และตัวการันต์สะกดอยู่ แต่หากใช้ "เพชรรัตน์" ส่วนมากจะอ่านออกเสียงว่า "เพ็ด-ชะ-รัด"

แต่มีหลักฐานจากทะเบียนสมรส ระหว่าง นายคงเดช เพชรรัตน์ กับ นางสาวเยื้อ  แสวงศิลป์ เมื่อ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2497 ที่สำนักทะเบียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ในเลขทะเบียนที่ 16/2252 ลง 12 พฤษภาคม พ.ศ.2497 


ซึ่งเป็นเอกสารแสดงความมีตัวตนของ คุณพ่อคงเดช เพชรรัตน์ และคุณแม่เยื้อ เพชรรัตน์ ในการก่อร่างสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่ ภายใต้นามสกุล "เพชรรัตน์" เส้นทางนี้ มาจนถึงทุกวันนี้ที่ขยับขยายออกไปจนถึงรุ่นหลาน ส่วนความเป็นมาของการสมรส หรือเรื่องดราม่าประเภทนวนิยายน้ำเน่าเกี่ยวกับความเป็นมาก็คงไม่ต้องกล่าวถึง แม้ว่าจะมีเรื่องเล่าจาก คุณยาย คุณน้า หรือญาติผู้ใหญ่บางคนมากมายก็ตามที อาจจะกล่าวถึงในกรณีที่มีส่วนสัมพันธ์กับเนื้อหาในตอนนั้นๆ 


คุณแม่เ้ยื้อ เพชรรัตน์ นามสกุลเดิม แสวงศิลป์ เกิดเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2476 เป็นบุตรสาวคนโตของ นายยอด และนางฟ้อน แสวงศิลป์  ซึ่งคุณตายอด นั้น มีอาชีพรับราชการเป็นครูใหญ่ อยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี(ในขณะนั้น) ทราบแต่เพียงว่ามีบ้านอยู่ฝั่งตรงข้ามของสถานีรถไฟอำเภอสระแก้ว แต่ท่านได้เสียชีวิตลงตั้งแต่คุณแม่เยื้อยังเล็กอยู่ โดยคุณแม่เยื้อ ยังมีน้องสาวร่วมบิดามารดาอีก 1 คน ชื่อ นางสายหยุด (ปัจจุบันอาศัยอยู่กับบุตรสาวคนหนึ่งที่ กทม.)โดยสมรสกับ ร.ต.ต.ชาญ พรหมเคนษา จนท.ตร.สภ.อ.สระแก้ว (ยศหลังสุดก่อนเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันอยู่กับภรรยาใหม่ที่ ต.ท่าเกษม อ.เมือง จ.สระแก้ว) มีบุตรด้วยกัน 4 คน


ภาพนี้ถ่ายที่บ้านเลขที่ 99/7 ช.ซอยบ้านญวน ถนนแก้วพิจิตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2531
ด้านบนสุด คือ คุณยายฟ้อน  แสวงศิลป์ (ซึ่งน่าจะเป็นภาพสุดท้ายที่ท่านถ่ายไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต) ถัดลงมา คือนางอุษา ชักนำ (นั่งอุ้มน้องส้ม ธัญญรัตน์ ชักนำ ลูกสาวคนเดียว) ขวาสุดคือ คุณแม่เยื้อ เพชรรัตน์ นั่งตรงกลางย้อมผมสีแดงคือ คุณน้าสายหยุด 

บ้านหลังนี้มีเรื่องราวที่จะต้องพูดถึงอีกมากมายหลายเรื่อง เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของหลายๆ เหตุการณ์ รวมถึงเป็นเหตุผลประกอบในการตัดสินใจหลายๆ อย่าง เพราะเราใช้ชีวิตอยู่กับบ้านหลังนี้มานานหลายปี และคนที่อยู่นานที่สุดก็คือ คุณแม่เยื้อ เพชรรัตน์ 

ที่สำคัญที่สุดก็คือ บ้านหลังนี้เป็นสถานที่สุดท้ายในชีวิตของคุณยาย คุณพ่อและคุณแม่ ในระยะเวลาห่างกันเพียง 1 ปี กับอีก 1 เดือน คุณพ่อนั้นไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนคุณแม่ นั่งสิ้นลมหายใจไปอย่างสงบที่ระเบียงหน้าบ้านหลังนี้เอง(ที่มองเห็นไม้ตีแบบโปร่งแนวตั้งด้านหลัง)

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทางเดินของพ่อ

ก่อนจะเดินทางย้อนกลับไปค้นหาคำตอบในเรื่องที่ไม่เคยรู้ (แล้วก็ไม่อยากจะรู้สักเท่าไหร่ เพราะมันไม่มีผลกระทบต่อหนทางในการเลี้ยงชีพของเราได้เลย) ก็จะต้องมาทบทวนยืนยันในความเป็นหลักฐานที่มีอยู่ให้ชัดเจนลงไปเป็นระยะๆ ซึ่งช้อเท็จจริงเหล่านี้มีหลักฐานชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร (แม้ว่าบางชิ้นจะสาบสูญไปแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นผ่านมาเต็มสองตา)

คุณพ่อผม ชื่อ สิงหเรศ เพ็ชร์รัตน์ เกิดเมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2470 ที่ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา เป็นบุตรชายคนโตของ คุณปู่ชื่อ นายเอื้อม เพ็ชร์รัตน์ และคุณย่าชื่อ นางระเบียบ เพ็ชร์รัตน์  และทราบแต่เพียงว่าคุณปู่มีอาชีพรับราชการ
คุณพ่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายจาก โรงเรียนประจำจังหวัดพระตะบอง ประมาณปี พ.ศ.2490 (ที่ต้องใช้คำว่าประมาณ ก็เพราะใบสุทธิหายไปเสียแล้ว แต่เคยอ่านมาด้วยตาตนเอง ว่าใบสุทธิของโรงเรียนประจำจังหวัดพระตะบองฉบับนั้นเป็นภาษาไทยทั้งสิ้น และผู้ลงนามก็เป็นข้าราชการชั้นสูงสองท่านของไทย ดังนั้นจึงเชื่อว่าใบสุทธิฉบับนั้นน่าจะเป็น ใบรับรองคุณวุฒิที่ประเทศไทยออกให้ในภายหลัง) และรู้สึกว่าจะเรียนช่วงเวลาใกล้เคียงกับ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เสียด้วย ใครอยากรู้คงจะต้องไปค้นประวัติคุณจิตร ภูมิศักดิ์ดูเอาล่ะครับ


เพราะคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยต้องทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อแลก มณฑลบูรพา ซึ่งประกอบด้วยเมืองพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณกับเมืองด่านซ้าย เมืองตราด รวมทั่งหมูเกาะ ต่างๆ ในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ นั่นจึงทำให้กัมพูชาหลุดพ้นไปจากการปกครองของประเทศสยามโดยถาวร หลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามมาตั้งแต่สมัยโบราณนานนม จนมาสิ้นสุดในช่วงกลางของกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง ผ่านการรบราฆ่าฟันแก่งแย่งดินแดนกวาดต้อนผู้คนอพยพโยกย้ายไปมาเหมือนฝูงสัตว์ จนแยกไม่ออกว่าใครเชื้อชาติอะไรกันแน่ เนื่องจากพ่อเป็นลูกครึ่ง ไทยกับเขมร แม่เป็นลูกครึ่งญวนกับแขกมลายู ส่วนตัวเองก็มีเมียเป็นลูกครึ่งลาวกับพม่า ทำนองนี้แหละ

และก็ไม่ได้จบสิ้นอยู่แต่เพียงเท่านั้น ปี พ.ศ. 2484 เมืองพระตะบอง และ เสียมราฐ ได้กลับมาเป็นของไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากกรณีพิพาทอินโดจีน โดยมีญี่ปุ่นเป็นหัวเรือใหญ่ในการไกล่เกลี่ยให้(ซึ่งแน่ล่ะ ว่าจุดมุ่งหมายก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ) ได้มีพิธีรับมอบดินแดนที่จังหวัดพระตะบอง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 มีการสวนสนาม โดยมีแม่ทัพบูรพาเป็นประธาน มีผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 3 นาย และผู้แทนฝ่ายทหาร 3 นาย ไปรับมอบดินแดนที่พระตะบอง นำโดยนายควง อภัยวงค์ ซึ่งได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตรีสังกัดเหล่าทหารสื่อสาร เป็นผู้เชิญธงไตรรงค์ชักขึ้นเหนือจังหวัดพระตะบอง แล้วรายงานทางวิทยุสื่อสาร มายังนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยตรง

เหตุผลที่นายควง ได้รับมอบหมายก็เนื่องมาจากเป็นบุตรของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั่นเอง เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายและเป็นสมุห เทศา ภิบาล สำเร็จราชการมณฑลบูรพา อันมีพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ

แต่ในพ.ศ. 2490 ประเทศไทย ก็ต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้ฝรั่งเศสไปปกครองกัมพูชาอีกครั้ง เมื่อฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะสงคราม และไทยเป็นผู้แพ้สงครามร่วมกับมหามิตรคือญี่ปุ่น ไชโย ?

ในปี พ.ศ.2490 นี่เองที่เชื่อว่าคุณพ่อสิงหเรศ ตัดสินใจออกจากบ้านที่จังหวัดพระตะบองเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางชายแดนอรัญประเทศ เพื่อศึกษาต่อพร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน (ซึ่งบางคนในปัจจุบันก็มีตำแหน่งและฐานะที่มั่นคง) โดยเพื่อนบางท่านก็ทำการอุปสมบทพร้อมกันด้วยที่วัดพระยาทำ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ประมาณช่วงปี พ.ศ.2495 ถึง พ.ศ.2497 โดยอุปสมบทเพียงพรรษาเดียวเท่านั้น


(วัดพระยาทำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2375 ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของ "แควหนุมาน" เลขที่ 6 หมู่.3 ต.กบินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ทิศเหนือจรดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ทิศใต้และทิศตะวันตกจรดที่ดินของตระกูล "พินิจชอบ"ทิศตะวันออกจรดแควหนุมาน และมีบ้านเรือนประชาชนตั้งเรียงรายบนฝั่งตรงข้ามกับหน้าวัด ยาวประมาณ 400 เมตร เรียกว่า "ตลาดใหญ่" หรือตลาดเก่า

สมัยพระยาบดินทร์เดชานุชิต (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพไปรบเขมรและได้นิมนต์ท่านอาจารย์คุ้มมาด้วย เพราะท่านเชี่ยวชาญในทางแพทยศาสตร์ เมื่อพระภิกษุมาด้วยเช่นนั้น จึงได้สร้างวัดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ จึงขนานนามว่า "วัดกระโดน" เพราะว่ามีต้นกระโดนใหญ่ขึ้นอยู่ต้นหนึ่งด้วย ต่อมาได้ยกอุโบสถขึ้น พร้อมทั้งได้พระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2469 และได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า "วัดพระทำ" จนถึงปัจจุบัน)

ในปี พ.ศ.2497  มีหลักฐานว่าท่านรับราชการเป็นเสมียนอยู่ที่แผนกศึกษาธิการอำเภอกบินทร์บุรี แต่ไม่ทราบว่าท่านเข้ารับราชการมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากหลักฐานที่มีอยู่ปรากฎว่าท่านมีใบรับรองคุณวุฒิ ป.ป. , ป.ม., พ.ม. และ ค.บ. ซึ่งคาดว่าท่านคงไปศึกษาเพิ่มเติมหลังจากเข้ารับราชการแล้ว เนื่องจากในยุคสมัยนั้น คุณวุฒิ ม.ปลาย ก็น่าจะเพียงพอในการสมัครเข้าเป็นเสมียนอำเภอแล้ว

จากหลักฐานเป็นบันทึกด้วยลายมือของน้องสาวคุณพ่อเองคนหนึ่งเขียนไว้หลังรูปถ่ายที่ส่งมาให้คุณพ่อในภายหลัง  ระบุไว้ว่าทางครอบครัวเคยเดินทางมาเพื่อพบคุณพ่อที่ ป่าใผ่ ต.คลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี เมื่อ ปี พ.ศ.2494 โดยมีคุณย่าระเบียบ และน้องๆ ของท่านเดินทางมาหลายคน แต่ก็ไม่ได้พบกับคุณพ่อตามที่ตั้งใจไว้




เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า ข้าราชการในพระตะบองส่วนมากจะเป็นคนไทยเชื้อสายเขมร หรือคนไทยที่มีต้นตระกูลอยู่ในเขมรมาตั้งแต่ชั้นบรรพบุรุษ จึงมีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทยเป็นอย่างดี ครั้นมาถึงยุคที่ถูกฝรั่งเศสปกครองตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 เป็นต้นมาก็ทำให้บรรดาข้าราชการเหล่านี้ รวมไปถึงบุตรหลานจำเป็นต้องมีความรู้ในภาษาฝรั่งเศสควบคู่ไปด้วย เมื่อจบการศึกษาชั้นสูงสุดภายในประเทศแล้ว จึงนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

มาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงคำบอกเล่าของคุณพ่อว่าทุกคนในครอบครัว พูด อ่าน/เขียน ภาษาไทย , ภาษาเขมร และภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี และมีน้องชายของท่านคนหนึ่งเดินทางไปเรียนแพทย์ที่ฝรั่งเศส (ข้อมูลเรื่องวันเดือนปีไม่สามารถยืนยันได้)  เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า คุณปู่คงมีอาชีพรับราชการและอาจจะมีตำแหน่งสูงพอสมควร จึงสามารถส่งให้ลูกๆ ทุกคนร่ำเรียนได้ในระดับสูงที่สุดในยุคสมัยนั้น

อันที่จริงว่าจะพูดถึงบ้านครัวนะ แต่่ขอติดเอาไว้ก่อนก็ได้เพราะเท่าที่ค้นหาข้อมูลดู รู้สึกว่ายังมีข้อขัดแย้งหลายเรื่อง คงต้องใช้เวลากลั่นกรองสักระยะหนึ่ง ประกอบกับช่วงชีวิตของคุณพ่อสิงหเรศจะต้องมาดำเนินต่อในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเดินตามเส้นทางมาทีละก้าวแล้วครับ

และเนื่องจากบทความนี้เขียนขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงการเพิ่มเนื้อหาบางตอนลงไปเพื่อความสมบูรณ์ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับมาล่าสุด

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัดพระยายัง

เคยพูดคุยกับพี่ชายคนเดียวที่มีอยู่หลายครั้งหลายหนว่าทำอย่างไรจึงจะรู้เรื่องราวส่วนตัวของพ่อให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้สามารถสืบสาวไปถึงต้นตอของบรรพบุรุษที่เป็นจุดกำเนิดของต้นตระกูลอย่างแท้จริง และพี่ชายก็รับรู้มาแต่เพียงว่า พ่อเคยบอกว่าปู่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในกรุงเทพมหานคร บริเวณที่เรียกว่า "ซอยวัดพระยายัง"

นั่นคือเหตุผลที่ต้องตะลุยหาข้อมูลเกี่ยวกับซอยนี้ เพื่อมองหาความสัมพันธ์หรือจุดเชื่อมระหว่างเหตุการณ์กับความเป็นไปในช่วงเวลาต่างๆ

ก็ควรจะเริ่มที่วัดพระยายังเป็นลำดับแรก


          
วัดพระยายัง (ในปัจจุบัน) ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ถนนพระราม ๖ แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๘๙ ตารางวา

 ผู้สร้างวัดพระยายัง คือ พระยามหานิเวศนานุรักษ์ (ยัง รักตะประจิตต์) ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพได้ยกทัพไปตีหัวเมืองเขมรมีชัยชนะ ได้กวาดต้อนครัวเขมรมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ บ้านครัว

มูลเหตุที่สร้างวัดพระยายังนั้น เนื่องมาจากที่ดินริมคลองแสนแสบฝั่งเหนือเมื่อได้จัดตั้งบ้านเรือนให้ครัวเขมรอยู่เรียบร้อยแล้ว ด้านตะวันตกของบ้านครัวเขมรยังมีที่ดินเหลืออยู่ถึงคลองส้มป่อยฝั่งตะวันออกพอที่จะสร้างวัดได้ อีกประการหนึ่ง เนื่องจากพระยามหานิเวศนานุรักษ์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ยึดมั่นเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีศรัทธาแรงกล้าที่จะสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา อีกประการหนึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแม่ทัพผู้มีชัยชนะกลับมา นิยมสร้างวัดเป็นอนุสรณ์

นอกจากนี้บันทึกบางแหล่งยังกล่าวถึงแขกจามในไทยว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนของตัวเอง(เวียดนามในปัจจุบัน) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในปริมณฑลของนครธม  เมื่อครั้งจ้าสามพระยาเข้าโจมตีเขมรจึงถูกกวาดต้อนมาอยู่อยุธยาด้วย  และภายหลังสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ชุมชนชาวจามนี้ก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งในการสู้รบกับการรุกรานของพม่าด้วย หลังเสียกรุง ชาวจามที่เหลือรอดได้เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้าตาก และได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านครัวในยุคนี้เอง  ต่อมาในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี มีการรุกรานเขมรและกวาดต้อนเขมรและแขกจามมาเพิ่มเติมที่บ้านครัวอีก

มาถึงตอนนี้ก็พอจะมองเห็นแล้วว่าในยุคสมัยก่อนนี้ สงครามระหว่าง ไทย พม่า เขมร ญวน มลายู ฯลฯ ส่งผลให้มีการอพยพไปมาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากประเทศที่ชนะสงครามก็จะพากันกวาดต้อนผู้คนต่างชาติที่แพ้สงครามนำมาเป็นเชลยหรือแรงงานให้กับตน ทั้งในส่วนรวมของประเทศและเพื่อใช้งานส่วนตัว (อันนี้ก็เหมือนกับผู้คนในยุคปัจจุบันนั่นแหละ)

ดังนั้น ในซอยวัดพระยายังจึงอุดมไปด้วยผู้คนมากหน้า มากเผ่าพันธุ์เป็นพิเศษแห่งหนึ่ง ที่มีการเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยามาจนถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในจำนวนผู้คนมากมายเหล่านี้คือ บรรพบุรุษซึ่งเป็นต้นตระกูล "เพชรรัตน์" ของเรา

ก็เห็นควรจะต้องหันเหความสนใจไปที่บ้านครัวกันเสียแล้วว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นตระกูลชองเราอย่างไร ? และสามารถยืนยันแนวความคิดเรื่องที่มาของชาติกำเนิดของเราได้หรือไม่ ? คงจะต้องยกเอาไปคราวหน้าในบทความใหม่เลยน่าจะเหมาะสมกว่า


วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บทนำ



บันทึกนี้ควรจะเริ่มต้นเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2499 เป็นต้นมา เพราะวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตหนึ่งที่เป็นสมาชิกของตระกูล "เพชรรัตน์" อีกคน ในประเทศไทย ทว่ามันไม่ใช่จุดกำเนิดของบรรพบุรุษที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรืออาจจะก่อนหน้านั้นอีกมากมาย

แต่ชีวิตนี้เบื่อหน่ายกับการที่จะต้องออกเดินทางไปโน่นมานี่ เบื่อหน่ายต่อการที่จะต้องออกไปพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา ดังนั้น การค้นคว้าหาข้อมูลสืบสาวเรื่องราวต่างๆ จากห้องแคบๆ จึงไม่สามารถกระทำได้ในอดีต แค่ไม่ใช่ในปัจจุบันที่โลกเปิดกว้างให้เราได้เรียนรู้ ได้ท่องเที่ยว ได้ค้นคว้า โดยลืมตามองเพียงในจอแคบๆ แต่ต้องอาศัยวิจารณญานและประสบการณ์ในกาค้นคว้าเสาะหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้อย่างไร้ขอบเขต และนำข้อมูลเหล่านั้นมากลั่นกรอง เทียบเคียง เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงหรือความเป็นไปได้จากข้อมูลเหล่านั้น

และนี่คืดจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อรวบรวมข้อมูลเท่าที่สามารถแสวงหาได้ โดยรวบรวมเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาเป็นบันทึกเส้นทางสาย "เพชรรัตน์" ที่กำลังจะถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ณ ที่นี้