วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กำเนิดของครอบครัว


คุณพ่อสิงหเรศ เพ็ชร์รัตน์ เปลี่ยนชื่อนามสกุลใหม่ เป็น นายคงเดช เพชรรัตน์  แต่ไม่สามารถหาหลักฐานแน่นอนว่าเป็นเมื่่อใดในช่วงระหว่างปี 2490  ถึง พ.ศ.2497 ส่วนสาเหตุที่เปลี่ยนก็คงจะมาจาก "นโยบายรัฐนิยม" ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีการปฏิวัติตั้งแต่การปกครอง การใช้ภาษา ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อที่ดูไม่เป็นชายชาตรีจึงไม่เหมาะสมกับผู้ที่เป็นข้าราชการัทั่วไป ส่วนนามสกุลนั้นก็อาจจะมีความจำเป็นต้องตัดไม้ไต่คู้ออกก็เพื่อให้ดูเรียบง่ายสบายตาเหมาะสมกับรัฐนิยมเท่านั้นเอง  เพราะยุคนั้นมีการปฏิวัติการใช้ภาษากันมากมาย(จนบางเรื่องออกจะโอเวอร์หลุดโลกไปมากๆ อย่างเช่น การกำหนดเรื่องการสะกดคำแบบใหม่ จนทำให้ครูบาอาจารย์แทบจะผูกคอตายไปตามๆ กัน ถ้ามีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน โชคดีที่ท่านหมดอำนาจไปเสียก่อน เปิดโอกาสให้ผู้นำคนใหม่มาแสดงอาการหลุดโลกให้ผู้คนได้เห็นกันต่อไป เห็นได้เท่านั้น พูดไม่ได้)  และก็เป็นการลดความฟุ่มเฟือยในการใช้วรรณยุกต์อีกด้วย เนื่องจากว่าต้องออกเสียงว่า "เพ็ด" เหมือนกัน แม้จะไม่มีไม้ไต่คู้และตัวการันต์สะกดอยู่ แต่หากใช้ "เพชรรัตน์" ส่วนมากจะอ่านออกเสียงว่า "เพ็ด-ชะ-รัด"

แต่มีหลักฐานจากทะเบียนสมรส ระหว่าง นายคงเดช เพชรรัตน์ กับ นางสาวเยื้อ  แสวงศิลป์ เมื่อ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2497 ที่สำนักทะเบียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ในเลขทะเบียนที่ 16/2252 ลง 12 พฤษภาคม พ.ศ.2497 


ซึ่งเป็นเอกสารแสดงความมีตัวตนของ คุณพ่อคงเดช เพชรรัตน์ และคุณแม่เยื้อ เพชรรัตน์ ในการก่อร่างสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่ ภายใต้นามสกุล "เพชรรัตน์" เส้นทางนี้ มาจนถึงทุกวันนี้ที่ขยับขยายออกไปจนถึงรุ่นหลาน ส่วนความเป็นมาของการสมรส หรือเรื่องดราม่าประเภทนวนิยายน้ำเน่าเกี่ยวกับความเป็นมาก็คงไม่ต้องกล่าวถึง แม้ว่าจะมีเรื่องเล่าจาก คุณยาย คุณน้า หรือญาติผู้ใหญ่บางคนมากมายก็ตามที อาจจะกล่าวถึงในกรณีที่มีส่วนสัมพันธ์กับเนื้อหาในตอนนั้นๆ 


คุณแม่เ้ยื้อ เพชรรัตน์ นามสกุลเดิม แสวงศิลป์ เกิดเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2476 เป็นบุตรสาวคนโตของ นายยอด และนางฟ้อน แสวงศิลป์  ซึ่งคุณตายอด นั้น มีอาชีพรับราชการเป็นครูใหญ่ อยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี(ในขณะนั้น) ทราบแต่เพียงว่ามีบ้านอยู่ฝั่งตรงข้ามของสถานีรถไฟอำเภอสระแก้ว แต่ท่านได้เสียชีวิตลงตั้งแต่คุณแม่เยื้อยังเล็กอยู่ โดยคุณแม่เยื้อ ยังมีน้องสาวร่วมบิดามารดาอีก 1 คน ชื่อ นางสายหยุด (ปัจจุบันอาศัยอยู่กับบุตรสาวคนหนึ่งที่ กทม.)โดยสมรสกับ ร.ต.ต.ชาญ พรหมเคนษา จนท.ตร.สภ.อ.สระแก้ว (ยศหลังสุดก่อนเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันอยู่กับภรรยาใหม่ที่ ต.ท่าเกษม อ.เมือง จ.สระแก้ว) มีบุตรด้วยกัน 4 คน


ภาพนี้ถ่ายที่บ้านเลขที่ 99/7 ช.ซอยบ้านญวน ถนนแก้วพิจิตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2531
ด้านบนสุด คือ คุณยายฟ้อน  แสวงศิลป์ (ซึ่งน่าจะเป็นภาพสุดท้ายที่ท่านถ่ายไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต) ถัดลงมา คือนางอุษา ชักนำ (นั่งอุ้มน้องส้ม ธัญญรัตน์ ชักนำ ลูกสาวคนเดียว) ขวาสุดคือ คุณแม่เยื้อ เพชรรัตน์ นั่งตรงกลางย้อมผมสีแดงคือ คุณน้าสายหยุด 

บ้านหลังนี้มีเรื่องราวที่จะต้องพูดถึงอีกมากมายหลายเรื่อง เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของหลายๆ เหตุการณ์ รวมถึงเป็นเหตุผลประกอบในการตัดสินใจหลายๆ อย่าง เพราะเราใช้ชีวิตอยู่กับบ้านหลังนี้มานานหลายปี และคนที่อยู่นานที่สุดก็คือ คุณแม่เยื้อ เพชรรัตน์ 

ที่สำคัญที่สุดก็คือ บ้านหลังนี้เป็นสถานที่สุดท้ายในชีวิตของคุณยาย คุณพ่อและคุณแม่ ในระยะเวลาห่างกันเพียง 1 ปี กับอีก 1 เดือน คุณพ่อนั้นไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนคุณแม่ นั่งสิ้นลมหายใจไปอย่างสงบที่ระเบียงหน้าบ้านหลังนี้เอง(ที่มองเห็นไม้ตีแบบโปร่งแนวตั้งด้านหลัง)

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทางเดินของพ่อ

ก่อนจะเดินทางย้อนกลับไปค้นหาคำตอบในเรื่องที่ไม่เคยรู้ (แล้วก็ไม่อยากจะรู้สักเท่าไหร่ เพราะมันไม่มีผลกระทบต่อหนทางในการเลี้ยงชีพของเราได้เลย) ก็จะต้องมาทบทวนยืนยันในความเป็นหลักฐานที่มีอยู่ให้ชัดเจนลงไปเป็นระยะๆ ซึ่งช้อเท็จจริงเหล่านี้มีหลักฐานชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร (แม้ว่าบางชิ้นจะสาบสูญไปแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นผ่านมาเต็มสองตา)

คุณพ่อผม ชื่อ สิงหเรศ เพ็ชร์รัตน์ เกิดเมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2470 ที่ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา เป็นบุตรชายคนโตของ คุณปู่ชื่อ นายเอื้อม เพ็ชร์รัตน์ และคุณย่าชื่อ นางระเบียบ เพ็ชร์รัตน์  และทราบแต่เพียงว่าคุณปู่มีอาชีพรับราชการ
คุณพ่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายจาก โรงเรียนประจำจังหวัดพระตะบอง ประมาณปี พ.ศ.2490 (ที่ต้องใช้คำว่าประมาณ ก็เพราะใบสุทธิหายไปเสียแล้ว แต่เคยอ่านมาด้วยตาตนเอง ว่าใบสุทธิของโรงเรียนประจำจังหวัดพระตะบองฉบับนั้นเป็นภาษาไทยทั้งสิ้น และผู้ลงนามก็เป็นข้าราชการชั้นสูงสองท่านของไทย ดังนั้นจึงเชื่อว่าใบสุทธิฉบับนั้นน่าจะเป็น ใบรับรองคุณวุฒิที่ประเทศไทยออกให้ในภายหลัง) และรู้สึกว่าจะเรียนช่วงเวลาใกล้เคียงกับ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เสียด้วย ใครอยากรู้คงจะต้องไปค้นประวัติคุณจิตร ภูมิศักดิ์ดูเอาล่ะครับ


เพราะคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยต้องทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อแลก มณฑลบูรพา ซึ่งประกอบด้วยเมืองพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณกับเมืองด่านซ้าย เมืองตราด รวมทั่งหมูเกาะ ต่างๆ ในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ นั่นจึงทำให้กัมพูชาหลุดพ้นไปจากการปกครองของประเทศสยามโดยถาวร หลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามมาตั้งแต่สมัยโบราณนานนม จนมาสิ้นสุดในช่วงกลางของกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง ผ่านการรบราฆ่าฟันแก่งแย่งดินแดนกวาดต้อนผู้คนอพยพโยกย้ายไปมาเหมือนฝูงสัตว์ จนแยกไม่ออกว่าใครเชื้อชาติอะไรกันแน่ เนื่องจากพ่อเป็นลูกครึ่ง ไทยกับเขมร แม่เป็นลูกครึ่งญวนกับแขกมลายู ส่วนตัวเองก็มีเมียเป็นลูกครึ่งลาวกับพม่า ทำนองนี้แหละ

และก็ไม่ได้จบสิ้นอยู่แต่เพียงเท่านั้น ปี พ.ศ. 2484 เมืองพระตะบอง และ เสียมราฐ ได้กลับมาเป็นของไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากกรณีพิพาทอินโดจีน โดยมีญี่ปุ่นเป็นหัวเรือใหญ่ในการไกล่เกลี่ยให้(ซึ่งแน่ล่ะ ว่าจุดมุ่งหมายก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ) ได้มีพิธีรับมอบดินแดนที่จังหวัดพระตะบอง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 มีการสวนสนาม โดยมีแม่ทัพบูรพาเป็นประธาน มีผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 3 นาย และผู้แทนฝ่ายทหาร 3 นาย ไปรับมอบดินแดนที่พระตะบอง นำโดยนายควง อภัยวงค์ ซึ่งได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตรีสังกัดเหล่าทหารสื่อสาร เป็นผู้เชิญธงไตรรงค์ชักขึ้นเหนือจังหวัดพระตะบอง แล้วรายงานทางวิทยุสื่อสาร มายังนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยตรง

เหตุผลที่นายควง ได้รับมอบหมายก็เนื่องมาจากเป็นบุตรของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั่นเอง เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายและเป็นสมุห เทศา ภิบาล สำเร็จราชการมณฑลบูรพา อันมีพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ

แต่ในพ.ศ. 2490 ประเทศไทย ก็ต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้ฝรั่งเศสไปปกครองกัมพูชาอีกครั้ง เมื่อฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะสงคราม และไทยเป็นผู้แพ้สงครามร่วมกับมหามิตรคือญี่ปุ่น ไชโย ?

ในปี พ.ศ.2490 นี่เองที่เชื่อว่าคุณพ่อสิงหเรศ ตัดสินใจออกจากบ้านที่จังหวัดพระตะบองเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางชายแดนอรัญประเทศ เพื่อศึกษาต่อพร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน (ซึ่งบางคนในปัจจุบันก็มีตำแหน่งและฐานะที่มั่นคง) โดยเพื่อนบางท่านก็ทำการอุปสมบทพร้อมกันด้วยที่วัดพระยาทำ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ประมาณช่วงปี พ.ศ.2495 ถึง พ.ศ.2497 โดยอุปสมบทเพียงพรรษาเดียวเท่านั้น


(วัดพระยาทำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2375 ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของ "แควหนุมาน" เลขที่ 6 หมู่.3 ต.กบินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ทิศเหนือจรดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ทิศใต้และทิศตะวันตกจรดที่ดินของตระกูล "พินิจชอบ"ทิศตะวันออกจรดแควหนุมาน และมีบ้านเรือนประชาชนตั้งเรียงรายบนฝั่งตรงข้ามกับหน้าวัด ยาวประมาณ 400 เมตร เรียกว่า "ตลาดใหญ่" หรือตลาดเก่า

สมัยพระยาบดินทร์เดชานุชิต (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพไปรบเขมรและได้นิมนต์ท่านอาจารย์คุ้มมาด้วย เพราะท่านเชี่ยวชาญในทางแพทยศาสตร์ เมื่อพระภิกษุมาด้วยเช่นนั้น จึงได้สร้างวัดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ จึงขนานนามว่า "วัดกระโดน" เพราะว่ามีต้นกระโดนใหญ่ขึ้นอยู่ต้นหนึ่งด้วย ต่อมาได้ยกอุโบสถขึ้น พร้อมทั้งได้พระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2469 และได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า "วัดพระทำ" จนถึงปัจจุบัน)

ในปี พ.ศ.2497  มีหลักฐานว่าท่านรับราชการเป็นเสมียนอยู่ที่แผนกศึกษาธิการอำเภอกบินทร์บุรี แต่ไม่ทราบว่าท่านเข้ารับราชการมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากหลักฐานที่มีอยู่ปรากฎว่าท่านมีใบรับรองคุณวุฒิ ป.ป. , ป.ม., พ.ม. และ ค.บ. ซึ่งคาดว่าท่านคงไปศึกษาเพิ่มเติมหลังจากเข้ารับราชการแล้ว เนื่องจากในยุคสมัยนั้น คุณวุฒิ ม.ปลาย ก็น่าจะเพียงพอในการสมัครเข้าเป็นเสมียนอำเภอแล้ว

จากหลักฐานเป็นบันทึกด้วยลายมือของน้องสาวคุณพ่อเองคนหนึ่งเขียนไว้หลังรูปถ่ายที่ส่งมาให้คุณพ่อในภายหลัง  ระบุไว้ว่าทางครอบครัวเคยเดินทางมาเพื่อพบคุณพ่อที่ ป่าใผ่ ต.คลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี เมื่อ ปี พ.ศ.2494 โดยมีคุณย่าระเบียบ และน้องๆ ของท่านเดินทางมาหลายคน แต่ก็ไม่ได้พบกับคุณพ่อตามที่ตั้งใจไว้




เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า ข้าราชการในพระตะบองส่วนมากจะเป็นคนไทยเชื้อสายเขมร หรือคนไทยที่มีต้นตระกูลอยู่ในเขมรมาตั้งแต่ชั้นบรรพบุรุษ จึงมีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทยเป็นอย่างดี ครั้นมาถึงยุคที่ถูกฝรั่งเศสปกครองตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 เป็นต้นมาก็ทำให้บรรดาข้าราชการเหล่านี้ รวมไปถึงบุตรหลานจำเป็นต้องมีความรู้ในภาษาฝรั่งเศสควบคู่ไปด้วย เมื่อจบการศึกษาชั้นสูงสุดภายในประเทศแล้ว จึงนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

มาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงคำบอกเล่าของคุณพ่อว่าทุกคนในครอบครัว พูด อ่าน/เขียน ภาษาไทย , ภาษาเขมร และภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี และมีน้องชายของท่านคนหนึ่งเดินทางไปเรียนแพทย์ที่ฝรั่งเศส (ข้อมูลเรื่องวันเดือนปีไม่สามารถยืนยันได้)  เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า คุณปู่คงมีอาชีพรับราชการและอาจจะมีตำแหน่งสูงพอสมควร จึงสามารถส่งให้ลูกๆ ทุกคนร่ำเรียนได้ในระดับสูงที่สุดในยุคสมัยนั้น

อันที่จริงว่าจะพูดถึงบ้านครัวนะ แต่่ขอติดเอาไว้ก่อนก็ได้เพราะเท่าที่ค้นหาข้อมูลดู รู้สึกว่ายังมีข้อขัดแย้งหลายเรื่อง คงต้องใช้เวลากลั่นกรองสักระยะหนึ่ง ประกอบกับช่วงชีวิตของคุณพ่อสิงหเรศจะต้องมาดำเนินต่อในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเดินตามเส้นทางมาทีละก้าวแล้วครับ

และเนื่องจากบทความนี้เขียนขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงการเพิ่มเนื้อหาบางตอนลงไปเพื่อความสมบูรณ์ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับมาล่าสุด

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัดพระยายัง

เคยพูดคุยกับพี่ชายคนเดียวที่มีอยู่หลายครั้งหลายหนว่าทำอย่างไรจึงจะรู้เรื่องราวส่วนตัวของพ่อให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้สามารถสืบสาวไปถึงต้นตอของบรรพบุรุษที่เป็นจุดกำเนิดของต้นตระกูลอย่างแท้จริง และพี่ชายก็รับรู้มาแต่เพียงว่า พ่อเคยบอกว่าปู่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในกรุงเทพมหานคร บริเวณที่เรียกว่า "ซอยวัดพระยายัง"

นั่นคือเหตุผลที่ต้องตะลุยหาข้อมูลเกี่ยวกับซอยนี้ เพื่อมองหาความสัมพันธ์หรือจุดเชื่อมระหว่างเหตุการณ์กับความเป็นไปในช่วงเวลาต่างๆ

ก็ควรจะเริ่มที่วัดพระยายังเป็นลำดับแรก


          
วัดพระยายัง (ในปัจจุบัน) ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ถนนพระราม ๖ แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๘๙ ตารางวา

 ผู้สร้างวัดพระยายัง คือ พระยามหานิเวศนานุรักษ์ (ยัง รักตะประจิตต์) ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพได้ยกทัพไปตีหัวเมืองเขมรมีชัยชนะ ได้กวาดต้อนครัวเขมรมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ บ้านครัว

มูลเหตุที่สร้างวัดพระยายังนั้น เนื่องมาจากที่ดินริมคลองแสนแสบฝั่งเหนือเมื่อได้จัดตั้งบ้านเรือนให้ครัวเขมรอยู่เรียบร้อยแล้ว ด้านตะวันตกของบ้านครัวเขมรยังมีที่ดินเหลืออยู่ถึงคลองส้มป่อยฝั่งตะวันออกพอที่จะสร้างวัดได้ อีกประการหนึ่ง เนื่องจากพระยามหานิเวศนานุรักษ์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ยึดมั่นเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีศรัทธาแรงกล้าที่จะสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา อีกประการหนึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแม่ทัพผู้มีชัยชนะกลับมา นิยมสร้างวัดเป็นอนุสรณ์

นอกจากนี้บันทึกบางแหล่งยังกล่าวถึงแขกจามในไทยว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนของตัวเอง(เวียดนามในปัจจุบัน) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในปริมณฑลของนครธม  เมื่อครั้งจ้าสามพระยาเข้าโจมตีเขมรจึงถูกกวาดต้อนมาอยู่อยุธยาด้วย  และภายหลังสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ชุมชนชาวจามนี้ก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งในการสู้รบกับการรุกรานของพม่าด้วย หลังเสียกรุง ชาวจามที่เหลือรอดได้เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้าตาก และได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านครัวในยุคนี้เอง  ต่อมาในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี มีการรุกรานเขมรและกวาดต้อนเขมรและแขกจามมาเพิ่มเติมที่บ้านครัวอีก

มาถึงตอนนี้ก็พอจะมองเห็นแล้วว่าในยุคสมัยก่อนนี้ สงครามระหว่าง ไทย พม่า เขมร ญวน มลายู ฯลฯ ส่งผลให้มีการอพยพไปมาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากประเทศที่ชนะสงครามก็จะพากันกวาดต้อนผู้คนต่างชาติที่แพ้สงครามนำมาเป็นเชลยหรือแรงงานให้กับตน ทั้งในส่วนรวมของประเทศและเพื่อใช้งานส่วนตัว (อันนี้ก็เหมือนกับผู้คนในยุคปัจจุบันนั่นแหละ)

ดังนั้น ในซอยวัดพระยายังจึงอุดมไปด้วยผู้คนมากหน้า มากเผ่าพันธุ์เป็นพิเศษแห่งหนึ่ง ที่มีการเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยามาจนถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในจำนวนผู้คนมากมายเหล่านี้คือ บรรพบุรุษซึ่งเป็นต้นตระกูล "เพชรรัตน์" ของเรา

ก็เห็นควรจะต้องหันเหความสนใจไปที่บ้านครัวกันเสียแล้วว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นตระกูลชองเราอย่างไร ? และสามารถยืนยันแนวความคิดเรื่องที่มาของชาติกำเนิดของเราได้หรือไม่ ? คงจะต้องยกเอาไปคราวหน้าในบทความใหม่เลยน่าจะเหมาะสมกว่า


วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บทนำ



บันทึกนี้ควรจะเริ่มต้นเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2499 เป็นต้นมา เพราะวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตหนึ่งที่เป็นสมาชิกของตระกูล "เพชรรัตน์" อีกคน ในประเทศไทย ทว่ามันไม่ใช่จุดกำเนิดของบรรพบุรุษที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรืออาจจะก่อนหน้านั้นอีกมากมาย

แต่ชีวิตนี้เบื่อหน่ายกับการที่จะต้องออกเดินทางไปโน่นมานี่ เบื่อหน่ายต่อการที่จะต้องออกไปพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา ดังนั้น การค้นคว้าหาข้อมูลสืบสาวเรื่องราวต่างๆ จากห้องแคบๆ จึงไม่สามารถกระทำได้ในอดีต แค่ไม่ใช่ในปัจจุบันที่โลกเปิดกว้างให้เราได้เรียนรู้ ได้ท่องเที่ยว ได้ค้นคว้า โดยลืมตามองเพียงในจอแคบๆ แต่ต้องอาศัยวิจารณญานและประสบการณ์ในกาค้นคว้าเสาะหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้อย่างไร้ขอบเขต และนำข้อมูลเหล่านั้นมากลั่นกรอง เทียบเคียง เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงหรือความเป็นไปได้จากข้อมูลเหล่านั้น

และนี่คืดจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อรวบรวมข้อมูลเท่าที่สามารถแสวงหาได้ โดยรวบรวมเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาเป็นบันทึกเส้นทางสาย "เพชรรัตน์" ที่กำลังจะถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ณ ที่นี้