วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

เส้นทางของทายาท


ภาพนี้ถ่ายที่หมู่บ้านเปรมฤทัย ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ.2519 ช่วงกลางปี เป็นบ้านของคุณน้าสายหยุด ซึ่งขณะนั้นมีคุณยายฟ้อน แสวงศิลป์อาศัยอยู่กับหลานๆ อีก 3 คน เป็นภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของเส้นทางชีวิต เพราะต้นปีนั้นสอบเข้าเรียน ปี 4 แผนกช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ทุ่งมหาเมฆ ยานนาวา กรุงเทพฯ จึงต้องไปพักอาศัยอยู่กับคุณยายฟ้อนเพราะไม่มีที่พัก เช้ามืดประมาณตี 4 ตี 5 ก็ตะเกียกตะกายขึ้นรถมา 2-3 ต่อกว่าจะถึงวิทยาลัยเกือบสองโมงเช้า แต่ส่วนมากก็จะเกินเพราะในปี พ.ศ.นั้น เส้นทางจากสำโรงใต้มาที่ยานนาวาไม่ใช่ใกล้ๆ เหมือนปัจจุบัน ไม่ใช่ระยะทาง แต่เป็นความสะดวกในการเดินทาง เพราะช่วงบางนามีแต่ป่าและหนองน้ำ รถที่จะผ่านเข้าไปในหมูบ้านก็มีน้อยคัน บางทีเลิกเรียนกลับมาสองทุ่มรถหมดก็ต้องเดินฝ่าความเปลี่ยวรกของป่าสองข้างและฝ่าความมืดเข้าไปในหมู่บ้านระยะทางกว่า 2 กม. บางครั้งหลงซอยจนแทบคลั่งเพราะในเดือนมืดมันมืดสนิทดีจริงๆ  โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากต้องลุยน้ำแค่อกเข้าไปกลัวไอ้เข้จะมางาบไปหลายหน

ปัญหาเรื่องที่พักเป็นอุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจหยุดการเรียนไว้เพียงไม่ถึงสามเดือนหลังเปิดการศึกษา เพราะมันมาเกี่ยวเนื่องกับเรื่องงบประมาณในการศึกษา กับปัญหาการทะเลาะวิวาทระหว่างสาขาวิชาต่างๆ ในวิทยาลัย และปัญหาเรื่องสุขภาพที่เกิดอาการป่วยเรื้อรังเกี่ยวกับต่อมทอนซิลอักเสบ และนั่นคืออวสานเส้นทางในการศึกษาของแผนกวิชาช่างก่อสร้าง กับอาชีพสถาปนิกที่มุ่งหวังไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นเรียนแผนกวิชานี้ที่โรงเรียนการช่างปราจีนบุรี เมื่อต้นปี 2516 

การระหกระเหินเร่ร่อนไปกับการทำงานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่กรรมกรก่อสร้าง กรรมกรสร้างทาง ในระยะหลายเดือนจนมาถึงต้นปี 2520 เส้นทางของชีวิตก็พลิกผันไปอีกครั้งกับการคัดเลือกทหารกองประจำการที่ศาลาการเปรียญ วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เนื่องจากได้ขอผ่อนผันไว้เมื่อไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ จึงตัดสินใจขอสละสิทธิ์ในการผ่อนผันขอเข้าคัดเลือกตามเดิมเพื่อให้หมดภาระผูกพันไป เนื่องจากมีแผนการในการอุปสมบทและเข้าทำงานกับคุณพ่อที่กาญจนบุรีเป็นการถาวร

และฟ้าก็ลิขิตให้จับได้ใบแดง ต้องเดินทางเข้ารับราชการที่ จังหวัดทหารบกปราจีนบุรี(ส่วนแยกอรัญประเทศ) ซึ่งตอนนั้นก็มืดแปดด้านไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่ที่ไหน มารู้ข่าวว่ากำลังมีการปะทะกันตามแนวชายแดนด้านอรัญประเทศกับเขมรก็ต่อเมื่อเดินทางเข้ามาถึงหน่วยในค่ายสุรสิงหนาท อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี(ปัจจุบันเป็น จ.สระแก้ว) แล้วในวันที่ 1 พฤษภาคม 2520 เวลากว่าสามทุ่ม 

อาหารมื้อแรกในค่ายทหารเป็นข้าวแดงของแท้ (ข้าวแข็งกระด้างไม่ขัดสีปนกรวด) กับแกงผักบุ้งใส่หมูสามชั้น(น่าจะเป็นต้มผักบุ้งมากกว่ากับมันหมู) พื้นโรงอาหารเป็นดินแข็งฝุ่นคลุ้งเวลาเดินไปมา เป็นโรงรถของ ผส.2 ร.พัน.3 (นามหน่วยในขณะนั้น ปัจจุบันคือ ร.12 พัน.3 รอ.) เงินเดือนเดือนแรกได้รับ 170 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 12 บาทหักค่าข้าวแล้วเหลือรับจริงวันละ 6 บาท


สิบตรี ชนินท์ เพชรรัตน์ เมื่อปี 2521
 ด้านหลัง คือ สโมสรนายทหารค่ายสุรสิงหนาท เพิ่งสร้างเสร็จ 

ชีวิตพลทหารกองประจำการ 2 ปีอยู่คู่กับการสู้รบระหว่างทหารไทยและเขมรตลอดมา งานหนักจึงเป็นการขนย้ายกระสุนปืนใหญ่และถังน้ำมัน ไม่เลือกเวลา แต่ที่เพิ่มเติมมาก็คือ การเป็นครูฝึกทหารใหม่ มา 2 ผลัดจนได้รับการแต่งตั้งยศเป็น สิบตรีกองประจำการ เมื่อปี 2521 และงานพิเศษที่ได้รับการมอบหมายคือ งานก่อสร้างจิปาถะ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

และไม่เคยคาดคิดไว้ว่า ค่ายสุรสิงหนาท จะเป็น "บ้าน" 
ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 30 ปี