วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เข้ารั้วสีเขียว


ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2520 เรามีโอกาสได้ย้อนกลับไปที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปโดยสภาพจำยอมตาม พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ เพราะมือไปหยิบใบแดงมาจากการตรวจเลือกทหารเข้ากองประจำการ ผลัดที่ 1/20 มันก็ไม่ได้เลวร้ายนักหรอกที่ต้องเดินทางมาจากอำเภอเมืองในสภาพว่างงานมาแต่งเครื่องแบบทหารสีขี้ม้าที่หลายๆ คนไขว่คว้าอยากจะแต่ง และก็โชคดีที่บรรจุเข้าหน่วยสนับสนุนการรบ คือ จังหวัดทหารบกปราจีนบุรี(ส่วนแยกอรัญประเทศ) (หมายเหตุ...ชื่อหน่วยในขณะนั้น)

เพียงแต่ว่าเราไปเข้าประจำการในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมเท่านั้นเอง เพราะเหตุผลใด? จะตัดบางช่วงจากคนพื้นบ้านมาให้อ่านกันนิดหน่อยนะครับ


ตำนานของตำบลป่าไร่

“ป่าไร่” เป็นชื่อตำบลหนึ่งในเขตอำเภอ อรัญประเทศ มีที่มาจากหมู่บ้านแห่งนี้มีต้นไม้ไผ่พันธุ์หนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้ไร่” เกิดขึ้นตามธรรมชาติเต็มทั่วไปหมด และสมัยก่อนจะมีแต่ป่าเลยเรียกกันติดปากว่า “ป่าไร่” ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เป็นคนอรัญโดยแท้มีอยู่ 6 ครอบครัว ที่ตั้งรกรากอยู่เป็นกลุ่มแรก เมื่อปี พ.ศ. 2500 คือครอบครัวของนายพัน สอนเจริญ นายโกศรี พัฒนพรรค นายพูน จำปาเทศ นายลี เจริญดี นายไสว บุญเจริญ และนายสิงห์ บุญเจริญ ที่บริเวณถนนศรีเพ็ญ ระหว่าหลักกิโลเมตรที่ 9-10 ในปัจจุบัน แต่เดิมจะเรียกกันว่า “บ้านน้อยป่าไร่” อยู่ที่อยู่ห่างจากชายแดนเพียง 1 กิโลเมตรเศษ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาเหตุการณ์ชายแดนด้านอรัญประเทศกับกัมพูชา มีการกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา กัมพูชารุกล้ำอธิปไตยของไทย และทำลายทรัพย์สินของคนไทยตามแนวชายแดน เหตุการณ์ที่คนไทยสูญเสียมากที่สุด และเป็นรอยจารึกที่รันทดอยู่ในความทรงจำของคนไทยและชาวบ้านตำบลป่าไร่ทุกคน คือ เมื่อคืนวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2520 เวลาประมาณ 4 ทุ่ม เขมรนับร้อยคนได้บุกเข้ามาในแผ่นดินไทย ที่หมู่บ้านน้อยป่าไร่ บ้านหนองดอและบ้านกกค้อ พร้อมๆกัน แล้วสังหารคนไทยในหมู่บ้านไป 30 คน มีทั้งชาย หญิง คนแก่ เด็ก และหญิงท้องและลงมือเผาหมู่บ้านทั้งหมด ก่อนที่จะหนีไป แม้ว่าที่ใกล้หมู่บ้านแห่งนี้ จะมีฐานปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดนตั้งอยู่ แต่เขมรเอากำลังเข้าโจมตีโอบล้อมไว้ ตำรวจตระเวนชายแดนได้ต่อสู้ปะทะกัน ประมาณ 20 นาที ฝ่ายเขมรก็ถอยกลับไป และไม่เกินครึ่งชั่วโมงกำลังทหารเขมรก็กลับมาโจมตีอีก แต่ตำรวจตระเวนชายแดนคาดการณ์ไว้แล้ว ได้วิทยุขอกำลังมาช่วยสนับสนุน ตำรวจตระเวนชายแดนได้จัดกำลังบางส่วนนำรถถังไปช่วยชาวบ้านเมื่อรถถังเข้าเขตหมู่บ้านน้อยป่าไร่เหลือระยะทางไม่ถึง 1 กิโลเมตร รถถังก็โดนกับระเบิด

กำลังสนับสนุนทางอากาศได้นำเครื่องบินมาช่วยโดยมุ่งตรงไปที่บ้านน้อยป่าไร่ ซึ่งขณะนั้นเขมรได้จุดไฟเผารอบหมู่บ้าน จากการเปิดโจมตีทางอากาศ ทำให้เสียงปืนฝ่ายเขมรเงียบหายไป ชาวบ้านและตำรวจตระเวนชายแดนทุกคนมีความหวังจะรอดชีวิต เพราะอีกเพียงชั่วโมงเดียวก็จะเช้าแล้วพอฟ้าสางทุกคนได้รับการช่วยเหลือ พ.ต.ท.สมนึก พลสิทธิ์ ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 2 นำกำลังช่วยลำเลียงชาวบ้านที่บาดเจ็บออกจากบ้านน้อยป่าไร่ และชาวบ้านตามแนวชายแดนอีกหลายหมู่บ้านต่างพากันอพยพเข้ามายังตัวเมืองอรัญประเทศ โดยอาศัยอยู่ตามศาลาวัดเป็นส่วนใหญ่ต่อมา นายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านและตำรวจตระเวนชายแดน เหตุการณ์ในครั้งนี้ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ในแผ่นดินไทย โดยเฉพาะคนตำบลป่าไร่ที่ไม่เคยลืม

จากเว็บไซท์ของเทศบาลตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
http://www.parai.go.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539542506



แถมอีกนิดจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นอกจากนั้น กองกำลังเขมรแดงยังโจมตีตามแนวชายแดนลาวและโจมตีหมู่บ้านในบริเวณชายแดนไทยด้านจังหวัดปราจีนบุรี (ในขณะนั้น ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) หลายครั้ง วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2520 มีกลุ่มชาวเขมรข้ามแดนมาปล้นสะดมที่บ้านน้อยป่าไร่ บ้านกกค้อ และบ้านหนองดอ อำเภออรัญประเทศ โดยกองกำลังเขมรเข้าโจมตีบ้านหนองดอก่อน จากนั้นจึงโจมตีบ้านกกค้อที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้ที่บ้านหนองดอ มีผู้เสียชีวิต 21 ศพ ที่บ้านกกค้อ มีผู้เสียชีวิต 8 ศพ กองกำลังเขมรที่เข้าโจมตีที่บ้านน้อยป่าไร่ ซึ่งกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนประจำการอยู่ เกิดการปะทะกัน ทำให้ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 ศพคือ จ.ส.ต. ภิรมย์ แก้ววรรณา ในที่สุดกองกำลังฝ่ายเขมรได้ล่าถอยไป[55]วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2520 กองกำลังกัมพูชาข้ามแดนเข้ามาโจมตีที่บ้านสันรอจะงันและบ้านสะแหง อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้มีการปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดนและทหารไทย โดย พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตรเป็นผู้นำทหารไทยในการผลักดันกองกำลังกัมพูชาออกไป



มีภาพประกอบจากหนังสือ เขมรฆ่าโหด โดย ประสิทธิ์ แสงรุ่งเรือง มาลงไว้ซักภาพก็พอแล้ว


ฝีมือเขมรแดงครับผม ขอยืนยัน และในปัจจุบันหลายๆ คนก็แปรสภาพเป็นเขมรของฝ่ายรัฐบาล ฮุน เซน ไปเรียบร้อยแล้ว หลายคนเป็นใหญ่เป็นโตไปแล้วก็ไม่น้อยและก็มีนักการเมืองไทยไปกอดคอทำธุรกิจกับพวกนี้อยู่ .. กรุณาระวังหลอดคอของท่านไว้ให้ดี ... ประเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

เพิ่งจะเดินเข้ารั้วสีเขียวยังไม่ทันทำอะไรเลย บรรยากาศมันก็ไม่น่าจะรื่นรมย์ตั้งแต่แรกเริ่มซะแล้ว เพราะสภาพทางการเมืองและสังคมมันกำลังเข้มข้น ดังนั้น การฝึกทหารใหม่ในปี 2520 ที่อรัญประเทศ จึงเป็นช่วงเวลาของ 90 วันมหาโหดจริงๆ หากนำมาเทียบกับ พ.ศ.2556 จึงเหมือนกับหนังสงครามกับหนังการ์ตูนสำหรับเด็ก

เอาล่ะ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอเพิ่มอีกนิดเป็น วีรกรรม/การปฏิบัติงานที่สำคัญของหน่วยและกำลังพล จาก พล.ม.2 จังหวัดปราจีนบุรี (http://www2.rta.mi.th/armyweb/2tk-bn/ArticleDisplay.asp?urlID=27)

ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๑๒ พ.ค.๒๐
มทภ.๑ ได้สั่งการให้ บก.ร่วมบูพา จัดกำลังเข้ากวาดล้างและทำลายกำลังข้าศึก (ทกพ) บ.น้อยป่าไร่ พิกัด TA ๔๑๐๑๐๘ และ บ.หนองดอ พิกัด TA ๓๙๔๑๐๕ บก.ร่วมบูรพาได้จัดกำลังพลชุดรบทหารราบยานยนต์ – รถถัง โดยมี ร.ต.อุดร ตันหยง เป็น ผบ.มว.ถ.ร้อย.ถ.๒ ม.พัน.๒ ร่วมกับ ร้อย อวบ.ที่ ๑ ผส. ร.พัน.๓ ในการปฏิบัติครั้งนี้ ได้ใช้รถถังนำทหารราบในการเข้าตีที่มั่นข้าศึก ขณะเคลื่อนที่เข้ากวาดล้างข้าศึกที่ บ.น้อยป่าไร่ ได้ปะทะกับ ทกพ. ซึ่งอยู่ในที่มั่นปกปิดและแข็งแรงกระสุนปืนใหญ่ไม่สามารถทำลายได้ และประกอบกับฝ่ายข้าศึกได้ระดมการยิงด้วยอาวุธประจำกาย จรวด เครื่องยิงลูกระเบิดอย่างหนาแน่น ร.ต.อุดร ตันหยง จึงขออนุมัติ ผบ.บก.ร่วมบูรพา นำรถถังเข้าดำเนินกลยุทธ จนถึงที่มั่นข้าศึก และสามารถทำลายข้าศึกได้ ทำให้ข้าศึกต้องถอนกำลังออกจาก บ.น้อยป่าไร่ เข้าไปในกัมพูชา
ผลการปฏิบัติ
  • สามารถทำลายที่มั่นข้าศึกได้
  • ยึดศพ ทกพ.ได้ ๒ ศพ 
  • ยึดปืนอาก้าได้ ๒ กระบอก และกระสุนจำนวนหนึ่
  • ข้าศึกต้องถอนกำลังกลับประเทศกัมพูชา 

ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๒๐ ก.ค.๒๐
บก.ร่วมบูรพา ได้สั่งการให้ ร้อย.ร.ป้องกันฐานปืนใหญ่ทำการ ลว. พิสูจน์ทราบ บ.น้อยป่าไร่ ซึ่ง ทกพ.ได้เข้ามายึดไว้อีก กำลังฝ่ายเราจำนวน ๓๕ นาย และ ตชด.๕ นาย ได้ ลว.ถึงพิกัด TA ๔๐๘๑๖๙ ได้ปะทะกับ ทกพ. ซึ่งอยู่ในที่มั่นปกปิด และกำลังข้าศึกอีกส่วนหนึ่งได้โอบล้อมกำลังฝ่ายเราไว้ไม่สามารถตีฝ่าออกมาได้ ผบ.ชุดได้รับบาดเจ็บสาหัส พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ผบ.ผส.๒ ร.พัน.๓ ซึ่งดำรงตำแหน่ง รอง ผบ. บก.ร่วมบูรพา ได้สั่งการให้ ม.พัน.๒ จัด ๑ มว.ถ. สมทบ ด้วย ๑ มว.ปล. และ พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ได้ขึ้น บัญชาการบนรถถัง คัน ผบ.มว.ร่วมกับ ร.ต.อุดร ตันหยง ทำการตีเจาะข้าศึกเข้าไปช่วยเหลือกำลังฝ่ายเรารวมทั้ง ได้ขอปืนใหญ่ทำการยิงคุ้มกันให้ และในเช้าวันที่ ๒๑ ก.ค.๒๐ จึงสามารถตีฝ่าวงล้อมข้าศึก นำผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตออกมาได้
ผลการปฏิบัติ
  • ทหารราบเสียชีวิต ๑๕ นาย
  • ตชด.เสียชีวิต ๒ นาย 
  • ทหารราบบาดเจ็บ ๑๖ นาย 
  • สามารถยึดพื้นที่คืนได้ 

ครั้งที่ ๓ เมื่อ ๒๓๐๖๐๐ มิ.ย.๒๓
ชุดเฝ้าตรวจและคุ้มครองหมู่บ้านโนนหมากมุ่นของ ร.๒ พัน.๓ ได้ปะทะกับกำลังฝ่ายตรงข้าม วน./เฮงสัมริน โดยฝ่ายเรา ได้ถูกข้าศึกปิดล้อม และถูกยิงเสียชีวิต ๑๒ นาย และข้าศึกได้ยึด บ้านโนนหมากมุ่น ไว้ ผบ.พล.๒ ได้สั่งการให้ ม.พัน.๒ จัดกำลังเข้าร่วมกับ ร.๓๑ พัน.๒ เข้า กวาดล้างและทำลายผลักดันขับไล่ข้าศึกให้ออกจากบ้านโนนหมากมุ่น และ เขตแนวชายแดนไทย ผบ.ม.พัน.๒ ในขณะนั้นคือ พ.ท.จำลอง บุญกระพือ ได้สั่งการให้ ร้อย.ถ.๑ ม.พัน.๒ จัด ๑ มว.ถ. โดยมี ร.ท.สุนันท์ เยี่ยมสถาน เป็น ผบ.มว.ถ. ปฏิบัติการร่วมกับ ร.๒ พัน .๒ เป็นชุดรบ ร. - ถ. เข้าทำการกวาดล้างขับไล่และผลักดัน ข้าศึกอย่างห้าวหาญ จนสามารถยึดบ้านโนนหมากมุ่นคืนได้
ผลการปฏิบัติ
  • ทหารราบเสียชีวิต ๑๒ นาย 
  • ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต ๓๓ นาย
  • ฝ่ายเราสามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์ข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก
  • สามารถผลักดันขับไล่ข้าศึกออกจาก บ.โนนหมากมุ่น ได้สำเร็จโดยข้าศึกได้ร่นถอยไปอยู่ บริเวณคลองยุทธวิธี 
ครั้งที่ ๔ เมื่อ ๒๔๑๐๐๐ มิ.ย.๒๓
พล.๒ ได้สั่งการให้ ร.๒, ร.๓๑ และ ม.พัน.๒ ดำเนินการกวาดล้างทำลายกำลังข้าศึกและผลักดันกำลังข้าศึกที่ยังคงยึดภูมิประเทศตามแนวชายแดนไทย ตั้งแต่ บริเวณ แนวคลองยุทธวิธี ถึงบริเวณศูนย์อพยพเขมรเสรี โดยกำหนดที่หมายบริเวณศูนย์อพยพเขมรเสรีเป็นที่หมาย โดยสั่งการให้ ม.พัน.๒ จัด ๑ มว.ถ. และจัด ๑ มว.รสพ.จาก ร.๒ ขึ้นสมทบ ร.๓๑ พัน.๓ เข้าตีทางปีกซ้าย และ ร.๒ พัน.๒ รอ. เข้าตีทางปีกขวาที่หมาย โดย ผบ.ม.พัน.๒ ได้สั่งการให้ ร.ท.สุนันท์ เยี่ยมสถาน เป็น ผบ.มว.ถ. นำกำลังเข้าปฏิบัติการในครั้งนี้ กำลังพลของชุดรบได้ปฏิบัติการที่ พิกัด TA ๕๔๗๒๕๐ เนื่องจากฝ่ายเขมรเสรีได้ดัดแปลงที่มั่นไว้และฝนตกทำให้พื้นดินอ่อนไม่สามารถรับน้ำหนักรถถังได้ทำให้รถถังติดหล่มไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ๒ คัน รถถังส่วนที่เหลือได้ทำการเข้าตีเพื่อผลักดันข้าศึกร่วมกับทหารราบต่อไป ผบ.ม.พัน.๒ ได้สั่งการให้ ร.ต.สุรพล นามแก้ว นำหมู่ ซบร.ของ ร้อย.ถ.๑ เข้าทำการกู้ซ่อมรถถังทั้ง ๒ คัน ภายใต้การยิงปืนใหญ่ของข้าศึกและสามารถปฏิบัติการได้สำเร็จภารกิจ
- เมื่อ ๒๔๑๕๐๐ มิ.ย.๒๓ ได้เพิ่มเติมกำลังอีก ๑ มว.ถ. โดย ร.ท.ณรงค์ ลุ่มจันทร์ ผบ.มว.ถ. ร้อย.ถ.๒ สมทบ กองร้อย.อวบ.ร.๓๑ พัน.๓ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์เนื่องจากข้าศึกมีการเพิ่มเติมกำลังและได้ยิง ฮท.๑ และ บต.L ๑๙ ของฝ่ายเราตก และ มีการระดมการยิงปืนใหญ่อย่างหนัก พ.ท.จำลอง บุญกระพือ ผบ.ม.พัน.๒ และ พ.ต.ทวีเดช ดวงอุไร รอง ผบ.ม.พัน.๒ ได้เข้าอำนวยการรบจนฝ่ายเราสามารถสังหารข้าศึกและผลักดันข้าศึกส่วนที่เหลือออกไปจากพื้นที่ประเทศไทย ได้เป็นผลสำเร็จ
ผลการปฏิบัติ
  • ฝ่ายเราเสียชีวิต ๕ นาย 
  • ฮท.๑ และ บต. L – ๑๙ ชนิดละ ๑ เครื่องถูกยิงตก
  • ฝ่ายข้าศึกถูกสังหารสามารถยึดศพได้ ๕๒ ศพ
  • ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปกรณ์อื่น ๆ ของข้าศึกได้จำนวนมาก
  • สามารถผลักดันข้าศึกให้ออกจากพื้นที่ประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ


ก็เป็นสถานการณ์โดยทั่วไปในพื้นที่น่ะครับ ตลอดระยะเวลารับราชการอยู่ 2 ปี วันไหนไม่ได้ยินเสียงปืนใหญ่นอนไม่หลับจริงๆ ทั้งฝั่งนี้ ฝั่งโน้น สอยกันไปสอยกันมาไม่ได้อยู่อย่างสงบเลยซักวัน แต่ชีวิตพลทหารก็ดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ทหารใหม่ผลัด 2 เข้ามาในเดือนพฤศจิกายนก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยครูฝึก แถมด้วยได้รับการแต่งตั้งยศ เป็น สิบตรีกองประจำการ ติดบั้งอันเดียวอย่างสุดเท่ห์ และก็ยังเป็นผู้ช่วยครูฝึกต่อมาอีก 2 ผลัด ทำงานหนักทุกอย่างตั้งแต่ ขนถังน้ำมัน แบกกระสุนปืนใหญ่แทบทุกวัน ว่างก็เข้าเวรจนเช้า แล้วก็ไปทำงานต่อแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ต้องรับสภาพจำยอมหลายประการในสถานะ "ไอ้เณร" ที่ พ.ศ.นั้นยังมีบทบาทเป็นเพียงกระสอบทรายให้พวกนายสิบขี้เมาบางคนอยู่ โดยไม่มีสิทธิร้องเรียน ก่อนจะปลดจากประจำการในวันที่ 30 เมษายน 2524 เพื่อไปรับสภาพคนว่างงานอีกครั้งหนึ่ง ในสภาพที่ไม่บุบสลายและอาการครบ 32 ประการ